บทบาทและโครงสร้างของศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนเพื่อรองรับ ความร่วมมือทางทหารในกรอบอาเซียน
คำสำคัญ:
การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา, คณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทหาร, ศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน, คณะแพทย์อาวุโสอาเซียน, กรมแพทย์ทหารบกบทคัดย่อ
บทคัดย่อ
กระทรวงกลาโหมไทยและกระทรวงกลาโหมสหพันธรัฐรัสเซีย ได้รับเกียรติให้ทำหน้าที่เป็นประธานร่วมคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทหารภายใต้กรอบการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ASEAN Defence Ministers’ Meeting - Plus : ADMM - Plus) วงรอบปี ๒๕๕๗ – ๒๕๕๙ โดยมีภารกิจที่สำคัญประการหนึ่ง คือการจัดตั้งศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนขึ้นในประเทศไทย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาเพื่อกำหนดบทบาทและโครงสร้างที่เหมาะสมของศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน, การแสวงหาความร่วมมือจากมิตรประเทศและองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแนวทางการปรับปรุงอัตราของกรมแพทย์ทหารบก ที่ทำหน้าที่เป็นฐานในการจัดตั้งศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยศึกษาและวิเคราะห์เอกสารแนวความคิดว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน รวมทั้งวิเคราะห์แนวคิดของผู้ทรงคุณวุฒิ จนทำให้ได้ข้อสรุปว่า ศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนมีบทบาททั้งในการส่งเสริมกิจการแพทย์ทหารในภูมิภาคและบทบาทในการสนับสนุนความร่วมมือทางทหารอื่น ๆ ในกรอบ ADMM และ ADMM - Plus รวมทั้งเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและลด
ความหวาดระแวงระหว่างชาติต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก สำหรับการกำหนดโครงสร้างที่เหมาะสมของศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนนั้น จำเป็นต้องพิจารณาถึงภารกิจที่ระบุไว้ในเอกสารแนวความคิดว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน, ความพร้อมในการปฏิบัติการแพทย์ผสมและการสนับสนุนความร่วมมือทางทหารอื่น ๆ ภายใต้กรอบ ADMM และ ADMM - Plus ซึ่งเมื่อพิจารณาปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้แล้ว ศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน ควรมีโครงสร้างการจัดหน่วยประกอบด้วยคณะแพทย์อาวุโสอาเซียน, สำนักงานเลขาธิการและหน่วยปฏิบัติได้แก่ ส่วนกรรมวิธีข้อมูล, ส่วนแผนและปฏิบัติการ, ส่วนประสานงาน, ส่วนสนับสนุน และส่วนสื่อสาร ทั้งนี้
มีความจำเป็นต้องเร่งรัดการแต่งตั้งคณะแพทย์อาวุโสอาเซียนตามขั้นตอนเพื่อทำหน้าที่ในการบริหาร
ศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนต่อไป
สำหรับการแสวงหาความร่วมมือจากมิตรประเทศ และ/หรือ องค์กรระหว่างประเทศนั้น ควรจัดทำเป็น Terms of Reference เพื่อกำหนดขอบเขตในการแลกเปลี่ยนข้อมูล, การจัดการประชุมทางวิชาการ, หลักสูตรการฝึกอบรม, การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการสนับสนุนด้านงบประมาณตามความเหมาะสม
เนื่องจากกรมแพทย์ทหารบกเป็นหน่วยหลักในการจัดตั้งและสนับสนุนการปฏิบัติงานของศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน จึงต้องเร่งรัดการปรับปรุงอัตราเฉพาะกิจของกรมแพทย์ทหารบกตามขั้นตอนด้วยการจัดตั้งหน่วยขึ้นตรงระดับกองเพิ่มเติม พร้อมทั้งเร่งรัดการกำหนดสถานะของศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนให้เป็นองค์กรหนึ่งของอาเซียนอย่างสมบูรณ์ หลังจากนั้นควรจัดทำบันทึกความเข้าใจหรือข้อตกลงในลักษณะใดลักษณะหนึ่งระหว่างรัฐบาลไทยกับสำนักงานเลขาธิการอาเซียน เพื่อกำหนดแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนที่มีที่ตั้งในประเทศไทย
Downloads
เผยแพร่แล้ว
ฉบับ
บท
License
บทความ ข้อเขียน หรือความคิดเห็นในนิตยสารนี้เป็นของผู้เขียน ไม่ผูกพันกับวิทยาลัย ป้องกันราชอาณาจักรและทางราชการแต่อย่างใด