แนวทางการสร้างความร่วมมือทางการเงินภายใต้แนวคิดริเริ่มหนึ่งแถบเส้นทาง(Belt and Road Initiative)กับความมั่นคงทางเศรษฐกิจของไทย

ผู้แต่ง

  • บุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์

คำสำคัญ:

หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง, อิทธิพล, เศรษฐกิจไทย

บทคัดย่อ

ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) เป็นนโยบายด้านต่างประเทศที่สำคัญของรัฐบาลประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับประเทศต่าง ๆ ตามแนวเส้นทาง Belt and Road และแม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้อยู่ในแนวเส้นทางดังกล่าวโดยตรงแนวคิดดังกล่าวย่อมมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จึงเป็นเรื่องที่มีความท้าทายเชิงนโยบาย ดังนั้น การศึกษาประโยชน์และผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของไทยหากเข้า
ร่วมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจภายใต้แนวคิด BRI จะเป็นประโยชน์ต่อการวางนโยบายเพื่อรักษาความสมดุลระหว่างผลประโยชน์และความมั่นคงทางเศรษฐกิจการเงินของประเทศต่อไปงานวิจัยฉบับนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ศึกษาเปรียบเทียบ BRI กับกรอบความร่วมมือพหุภาคีอื่น ๆ 2. วิเคราะห์ผลประโยชน์และผลกระทบของ BRI ที่มีต่อภูมิภาคและประเทศไทย และ 3. เสนอแนะนโยบายและมาตรการเพื่อป้องกันผลกระทบต่อประเทศไทยจากการเข้าร่วม BRI โดยเน้นด้านความร่วมมือทางการเงิน (Financial Cooperation) งานวิจัยนี้ได้มีการ
ทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และใช้ข้อมูลปฐมภูมิจากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ที่ปฏิบัติงานด้านเศรษฐกิจจำนวน 12 คนผลการวิจัยพบว่า BRI มีความแตกต่างหลายประการจากกรอบความร่วมมือพหุภาคีอื่น แม้ว่าจะมีความครอบคลุมเกี่ยวกับการรวมตัวทางเศรษฐกิจในหลายมิติ แต่ดูเหมือว่าข้อริเริ่ม BRI จะให้ความสำคัญอย่างมากกับการเชื่อมโยงทางกายภาพ ซึ่งจะเอื้อต่อสาธารณรัฐประชาชนจีนในการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจครอบคลุมทวีปเอเชีย รวมไปถึงแอฟริกาและยุโรป ในด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจพบว่าประเทศไทยและประเทศอื่นในภูมิภาคสามารถได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการเข้าร่วม BRI โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่มีที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของอาเซียนและกลุ่ม
CLMV นอกจากนี้ยังมีความพยายามที่จะเชื่อมโยงโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EasternEconomic Corridor) ให้เข้ากับแนวเส้นทาง BRI อย่างไรก็ดี ผลกระทบซึ่งถือเป็นความเสี่ยงจากการ
เข้าร่วม BRI นั้นเห็นว่าประเทศไทยควรปรับตัวเพื่อรองรับการไหลเข้าของเงินลงทุนจากสาธารณรัฐประชาชนจีนที่จะเข้ามาดำเนินธุรกิจธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น มีผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการไทย ข้อเสนอแนะคือประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมในการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการไทย การเตรียมความพร้อมเปิดเสรีภาคการเงินให้มากขึ้นอย่างมียุทธศาสตร์ การเตรียมกฎเกณฑ์การกำกับดูแลการบริการทางการเงินที่เหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงของภาคการเงินไทย และส่งเสริมให้บุคลากรของไทยเรียนรู้และเข้าใจยุทธศาสตร์การลงทุนของจีนในประเทศต่าง ๆ อย่างถ่องแท้และเท่าทัน เพื่อให้การเข้าร่วม BRI ของประเทศไทยเกิดประโยชน์สูงสุด

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-05-14

ฉบับ

บท

บทความวิจัย