โครงสร้างและกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ

ผู้แต่ง

  • ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงวิไล

คำสำคัญ:

โครงสร้าง, กลไกขับเคลื่อน, ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม

บทคัดย่อ

การจัดโครงสร้างและกลไกการขับเคลื่อนที่เหมาะสมเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ยุทธศาสตร์ระดับประเทศบรรลุผล สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติได้จัดทำ‘ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)’ ของประเทศขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและประเทศไทย 4.0 ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพทั้งจากเอกสาร รายงานทางวิชาการของไทยและต่างประเทศเพื่อวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) รวมถึงการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม และผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการเพื่อวิเคราะห์ PESTEL Analysis,SWOT Analysis และ TOWS Matrix ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จ (Critical SuccessFactor) ของระบบการบริหารจัดการการวิจัยและนวัตกรรม และนำเสนอโครงสร้างและกลไกการบริหารจัดการที่เหมาะสมเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม 20 ปี(พ.ศ. 2561-2580) ของประเทศ จึงเสนอว่าควรจัดโครงสร้างระบบวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงาน 5 ระดับคือ หน่วยนโยบาย หน่วยให้ทุน หน่วยวิจัย หน่วยรับรองและทดสอบมาตรฐาน และหน่วยใช้ประโยชน์ มีการกำหนดบทบาทหน้าที่และกลไกการบริหารที่ชัดเจน โดยการจัดโครงสร้างและกลไกขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ให้บรรลุผลสำเร็จได้ในระยะเวลาที่เหมาะสม ควรมีการเร่งรัดดำ เนินการในประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1. ผลักดันยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้ประกาศใช้เป็นกรอบแนวทางของประเทศในการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้จริง และเพิ่มขีดความสามารถของภาคการผลิตและบริการ 2. จัดให้ (ร่าง) พระราชบัญญัติการวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ... ซึ่งได้จัดทำเสร็จแล้ว ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยเร็ว 3. จัดตั้งสำนักงานสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งเป็นส่วนราชการขึ้นกับนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เชื่อมโยงและขับเคลื่อนนโยบายจากภาครัฐไปสู่หน่วยงานในระบบอื่น ๆ โดยทำ งานร่วมกับสำนักงบประมาณเพื่อการบริหารงบประมาณวิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้สอดคล้องกับนโยบายกำกับดูแลและประสานการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และการบริหารจัดการระบบข้อมูลการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการติดตามและประเมินผล 5. จัดให้มีหน่วยงานระดับให้ทุนวิจัยอยู่ในการบริหารจัดการของสำนักงานสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติทั้งนี้ หน่วยให้ทุนควรมีรูปแบบองค์การมหาชนหรือกองทุนเพื่อความคล่องตัว 5. จัดโครงสร้างของหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม โดยปฏิรูปโครงสร้างและกลไกในแนวราบและแนวตั้งให้แต่ละส่วนความเชื่อมต่อที่ชัดเจนตามประเด็น มี (Agenda) หลักของประเทศ 6. จัดระบบงบประมาณแบบบูรณาการ โดยให้สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็นผู้ตัดสินใจเชิงการจัดสรรงบประมาณให้มีความสอดคล้องต่อเป้าหมายการพัฒนาประเทศ 7. จัดระบบข้อมูลและบริหารจัดการระบบข้อมูลการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และ     8. จัดทำมาตรฐาน ข้อกำหนด หรือแนวทางปฏิบัติ รวมถึงจริยธรรมการวิจัยเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-05-16