มาตรการการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญากับการสร้างหลักประกันความเป็นธรรม ศึกษาเฉพาะกรณีการสอบสวนหรือไต่สวนของเจ้าพนักงาน
คำสำคัญ:
การสอบสวน, พยานหลักฐาน, มาตรการการสร้างหลักประกันความเป็นธรรมบทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง มาตรการการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญากับการสร้างหลักประกันความเป็นธรรม ศึกษาเฉพาะกรณีการสอบสวนหรือไต่สวนของเจ้าพนักงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน วิเคราะห์ถึงสภาพปัญหา สาเหตุ เงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง แสวงหามาตรการแนวทาง เพื่อสรุปและประมวลข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่มีผลต่อการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มีขอบเขตการวิจัยโดยศึกษาปัญหา สาเหตุ และเงื่อนไข นำมาวิเคราะห์เพื่อค้นหามาตรการแนวทาง ตลอดจนข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่เหมาะสมในประเทศไทย โดยใช้วิธีดำเนินการวิจัยในการศึกษาครั้งนี้ คือ การศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยจากการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview) ผู้ทรงคุณวุฒิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่รู้จริงในการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มีการนำเสนอประเด็นและแนวทางการแก้ไขปัญหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ และการศึกษาวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Context Analysis) ผลการวิจัยค้นพบว่าการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานยังไม่มีมาตรการหรือแนวทางที่ชัดเจน ทั้งนี้หากกระบวนการยุติธรรมไม่มีประสิทธิภาพ ขาดมาตรการที่จะอำนวยความยุติธรรม ย่อมจะไม่สามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล และสร้างความเป็นธรรมได้อย่างแท้จริง ปัญหาสาเหตุเงื่อนไขสำคัญคือ รัฐจะต้องมีมาตรการแนวทางในการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานให้สอดคล้องกับ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 68 บัญญัติว่า “รัฐพึงจัดระบบการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมทุกด้านให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ และให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว และไม่เสียค่าใช้จ่ายสูงเกินสมควร
รัฐพึงมีมาตรการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรม ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่โดยเคร่งครัด ปราศจากการแทรกแซงหรือครอบงำใดๆ ...”
ซึ่งการสอบสวนหรือไต่สวนของเจ้าพนักงานเป็นกระบวนการยุติธรรมที่มีความสำคัญมาก ดังนั้นการอำนวยความยุติธรรมจึงเป็นภารกิจและเป้าหมายสำคัญของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และหากการสอบสวนหรือไต่สวนกระทำโดยมีมาตรการที่ชัดเจน ก็จะสอดคล้องกับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ที่ได้กำหนดไว้ว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน”
ดังนั้น การสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานจึงต้องมีมาตรการการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อใช้เป็นหลักในการปฏิบัติงาน กล่าวคือ นำหลักค้นหาความจริง (Principle of Truth Finding) และหลักเหตุผล (Principle of Rationality) มาใช้เป็นมาตรการการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานรวบรวมพยานหลักฐานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยเป็นมาตรการใหม่ที่จะทำให้การสอบสวนรวบรวมพยาน หลักฐานบรรลุเป้าหมายของการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนสอดคล้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้อย่างแท้จริง ความเหลื่อมล้ำในสังคมย่อมไม่เกิดขึ้น เป็นการสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างทั่วถึง การอำนวยความยุติธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการสร้างหลักประกันในการเข้าถึงความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมกัน มุ่งก่อให้เกิดการสร้างมาตรฐานและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรม ทำให้การบังคับใช้กฎหมายและอำนวยความยุติธรรมเกิดความเป็นธรรมและเสมอภาค สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ในการลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ และยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ในกรณีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาและอุปสรรค ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวกทั่วถึง รวมถึงการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์หรือประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ตลอดจนทำให้เกิดมาตรการใหม่ในการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ก่อให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมมีมาตรการความร่วมมือที่ดี เพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกันต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการสอบสวนหรือไต่สวน และเกิดความสงบเรียบร้อย ความสงบสุขในสังคมประเทศชาติต่อไป ทั้งนี้ควรจัดทำเป็นคู่มือในการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันในการปฏิบัติหน้าที่ อันจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการให้ความเสมอภาคและเป็นธรรมต่อคู่กรณีเป็นอย่างดีที่สุด
Downloads
เผยแพร่แล้ว
ฉบับ
บท
License
บทความ ข้อเขียน หรือความคิดเห็นในนิตยสารนี้เป็นของผู้เขียน ไม่ผูกพันกับวิทยาลัย ป้องกันราชอาณาจักรและทางราชการแต่อย่างใด