การสื่อสารเพื่อความรอบรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ : กรณีศึกษา ผลิตภัณฑ์อาหาร
คำสำคัญ:
การสื่อสารสุขภาพ, ความรอบรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ, ผลิตภัณฑ์สุขภาพ, ผลิตภัณฑ์อาหารบทคัดย่อ
การเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพถือเป็นวาระแห่งชาติ โดยกำหนดอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะองค์กรที่ทำหน้าที่หลักในการปกป้องและคุ้มครองสุขภาพของประชาชนจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ จึงได้พัฒนาการดำเนินงานเพื่อการสื่อสารความรอบรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เนื่องจากตระหนักว่าความรอบรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพจะส่งผลต่อผลลัพธ์ด้านสุขภาพ เมื่อบุคคลมีความรอบรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ จะมีศักยภาพในการดูแลตนเองได้ รวมทั้งยังสามารถช่วยแนะนำสิ่งที่ถูกต้องให้กับบุคคลใกล้ชิด ครอบครัว ชุมชน และสังคมได้ด้วย ความรอบรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เพราะสภาวะโรคภัยไข้เจ็บมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึง เข้าใจ และใช้ข้อมูลด้านสุขภาพประจำวันได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
จากการดำเนินงานขับเคลื่อนการสื่อสารเพื่อความรอบรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ จะเห็นได้ว่าทุกภาคส่วนควรมีบทบาทและเป็นส่วนสำคัญในการร่วมกันศึกษา แสวงหา และออกแบบแนวทางที่เหมาะสม สอดคล้องกับบริบทและบทบาทขององค์กร โดยมีข้อเสนอแนะสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่อาจมีการดำเนินการทั้งในเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติ ดังนี้ (1) ประกาศและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ (Health for All Policy) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้การชี้แนะต่อนโยบายที่ให้การสนับสนุนสุขภาพและความเสมอภาคในทุกภาคส่วน (2) ใช้กฎหมายหรือข้อบังคับ (Enforcement) อย่างเข้มงวด เพื่อต่อต้านและกดดันผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นอันตราย (3) การรวมกลุ่มของคนที่สนใจในสิ่งเดียวกัน (Empowerment) หรือการสร้างเครือข่าย ทั้งในพื้นที่ชุมชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการเฝ้าระวัง และเสริมทักษะในการเรียนรู้สุขภาพ หรือการเลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างเหมาะสม (4) สร้างคลังข้อมูลด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Big Data-Health Product) เพื่อให้เป็นแหล่งสืบค้นข้อมูล และเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งจากผู้ให้บริการและประชาชนที่เป็นผู้รับบริการ (5) พัฒนาช่องทางเพื่อการเข้าถึงของประชาชนทั้งในรูปแบบการสื่อสารทางเดียว (One-Way Communication) และการสื่อสารสองทาง (Two-Way Communication) (6) การใช้สื่อบุคคล Influencer ที่มีอิทธิพลต่อความคิดของประชาชนทั้งในส่วนที่เป็นสื่อออนไลน์ สื่อออฟไลน์ และชุมชนในพื้นที่ เพื่อสร้างความสนใจ ลดภาษาราชการที่ไม่เข้าใจ และใช้ภาษาที่ผู้บริโภคเข้าใจเข้าถึง และ (7) การขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ทำการตลาดเพื่อสังคม (Social Marketing) โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการตลาด แทนที่จะมุ่งขายสินค้ามาเป็นการขายความคิดทางการเปลี่ยนแปลงสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีการนำไปกำหนดในกฎระเบียบเพื่อการกำกับดูแล
Downloads
เผยแพร่แล้ว
ฉบับ
บท
License
บทความ ข้อเขียน หรือความคิดเห็นในนิตยสารนี้เป็นของผู้เขียน ไม่ผูกพันกับวิทยาลัย ป้องกันราชอาณาจักรและทางราชการแต่อย่างใด