การรวมตัวเป็นสหภาพยุโรป: 9 บทเรียนจากอียูสู่อาเซียน
คำสำคัญ:
การรวมตัวกัน, ความหลายหลายของทัศนะ, การใช้อำนาจอธิปไตยร่วม, การต่อรอง, วิกฤตการณ์เก้าอี้ว่างบทคัดย่อ
การรวมตัวของประเทศในยุโรปจนเกิดเป็นสหภาพยุโรปให้บทเรียนสำคัญเรื่องการรวมตัวระหว่างประเทศ ผู้เขียนได้ประมวลทัศนะของผู้เชี่ยวชาญด้านยุโรปศึกษาจำนวน 7 ท่าน ที่ชี้ให้เห็นประสบการณ์หรือวิวัฒนาการของการสร้างสหภาพยุโรปออกมาเป็น 9 บทเรียน ได้แก่ 1) ความคิดในการรวมตัวมีหลากหลายทัศนะ 2) การรวมตัวในยุโรปเป็นพัฒนาการของการต่อรอง และพัฒนาเป็นช่วงๆ 3) ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาคมเปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง 4) การรวมตัวไม่ได้เป็นความคาดหวังของฝ่ายเดียวและผลลัพธ์เป็นนวัตกรรม 5) ปฏิสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและเศรษฐกิจ 6) การต่อรองของการเมืองเบื้องบนและการปฏิเสธแนวคิดชาตินิยม 7) พัฒนาแบบ “ค่อยเป็นค่อยไป” 8) มี "พลังผลักดันที่สำคัญ" ในการรวมตัว และ 9) วิสัยทัศน์ของผู้นำ ซึ่งบทเรียนเหล่านี้สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจถึงพัฒนาการของการรวมตัวระหว่างประเทศว่าไม่ได้เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย และไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายอย่างที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดคาดคิด แต่เต็มไปด้วยความยากลำบากและอุปสรรคนานาประการ บทเรียนเหล่านี้เป็นเสมือน “ห้องทดลองที่มีชีวิต” และทดสอบด้วยกลาเวลาที่ยาวนานมากว่า 60 ปีซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่ออาเซียนอย่างแท้จริง ซึ่งอาเซียนได้นำมาวิเคราะห์และประยุกต์ใช้แล้ว โดยพิจารณาได้ทั้งในระดับยุทธศาสตร์ ระดับยุทธการ และระดับรากหญ้าคือปัจเจกบุคคลทั้งปวง เพื่อให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของความเสี่ยงและโอกาสของพัฒนาการของการรวมตัวเป็นประชาคม อย่างไรก็ตาม การสร้างความรู้และการสร้างความเข้าใจให้แก่พลเมืองอาเซียนในการสร้างความร่วมมือกันในประชาคม เพื่อเป็นประชาคมที่มั่นคงยั่งยืนที่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงที่มีมาแล้วนั้น นอกจากนั้น การรวมตัวของอาเซียนก็ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวคิดทฤษฎีการรวมตัวเดียวกันกับยุโรป คือ ไม่ได้สร้างองค์การเหนือรัฐเหนือชาติ (supranational) ขึ้นมาในบางเสาหลักหรือบางประชาคม โดยแต่ละประเทศยังคงอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของตนอย่างเต็มที่ ยึดหลักการไม่มีการแทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน อันเป็นข้อกำหนดอย่างชัดเจนในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) และในกฎบัตรอาเซียน และกฎบัตรอาเซียนก็ยังไม่มีมาตรใดได้บัญญัติถึงการออกจากการเป็นสมาชิกของประชาคมด้วย บทเรียนของการรวมตัวเป็นสหภาพยุโรป (โดยย่อ) นี้ อย่างน้อยที่สุดสามารถช่วยให้เรา “พลเมืองอาเซียน” ได้มีความตระหนักและรู้เท่าทัน ให้มีความหนักแน่นในการสร้างความรัก ความสามัคคี ความร่วมมือกัน ในการดำรงความมุ่งหมายของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขให้ยาวนานที่สุด เพื่อไม่ตกเป็นเครื่องมือหรือเหยื่อของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่จะมาฉวยใช้ความร่วมมือที่มีไปในทางที่ไม่สมควรได้ แต่ความร่วมมือในการรวมตัวกันจะเป็นไปตามคำขวัญที่ว่า “One Vision, One Identity, One Community” ได้แน่นหนาขนาดใด คงต้องเป็นไปตามพลวัตของบริบทโลกที่มีด้วยนั่นเอง
Downloads
เผยแพร่แล้ว
ฉบับ
บท
License
บทความ ข้อเขียน หรือความคิดเห็นในนิตยสารนี้เป็นของผู้เขียน ไม่ผูกพันกับวิทยาลัย ป้องกันราชอาณาจักรและทางราชการแต่อย่างใด