สาเหตุของความล้มเหลวของธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทย

ผู้แต่ง

  • aongorn somprasong ndc

คำสำคัญ:

สาเหตุความล้มเหลว, ธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทย

บทคัดย่อ

            ธุรกิจสตาร์ทอัพเป็นหนึ่งในองคาพยพที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ให้ประสบความสำเร็จเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด เนื่องจากธุรกิจสตาร์ทอัพมีโมเดลทางธุรกิจที่แตกต่างไปจากการดำเนินธุรกิจรูปแบบเดิมด้วยการนำเอาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการหรือ ความคาดหวังของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันมาใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ นอกจากนั้นยังพบว่า ธุรกิจสตาร์ทอัพสามารถทำซ้ำด้วยต้นทุนที่ไม่สูง รวมทั้งเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการขยายตลาดได้อย่างรวดเร็ว จุดเด่นที่มีความสำคัญอีกประการหนึ่งของธุรกิจสตาร์ทอัพ คือ เป็นธุรกิจที่สามารถส่งผ่านคุณค่าที่แท้จริงให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคได้ ทำให้คุณภาพของผู้บริโภคดีขึ้น อาทิเช่น ได้รับบริการที่รวดเร็วขึ้นและ หรือมีราคาที่ถูกลง เป็นต้น นอกจากนี้ ธุรกิจสตาร์ทอัพเป็นธุรกิจขนาดเล็ก แต่สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดดเป็นการออกแบบธุรกิจให้มีการทำซ้ำได้โดยง่าย (repeatable) และขยายกิจการได้โดยไม่ใช้เวลาหรือต้นทุนที่มากเกินไป (scalable) ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดเป็นนวัตกรรมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจและเป็นประโยชน์ต่อผลิตภัณฑ์หรือบริการของตนเอง ดังนั้น ธุรกิจสตาร์ทอัพจึงสามารถเป็นรากฐานที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศได้ต่อไปในอนาคต แต่สำหรับประเทศไทยกลับพบว่า ธุรกิจสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ร้อยละ 75 - 90 ไม่สามารถดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้ และธุรกิจสตาร์ทอัพในต่างประเทศก็เช่นกันส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน สาเหตุของความล้มเหลวของธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทยประกอบด้วย 1) ผลิตภัณฑ์ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด 2) ธุรกิจสตาร์ทอัพยังมีปัญหาทางด้านการเงินที่จะนำมาสนับสนุนการดำเนินกิจการและปัญหาในการบริหารจัดการต้นทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพ 3) ผู้ประกอบการไม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับความต้องการของลูกค้าที่แท้จริง 4) ผู้ประกอบการขาดความมุ่งมั่นและขาดแรงบันดาลใจในการดำเนินธุรกิจ 5) ธุรกิจสตาร์ทอัพขาดกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนองค์การให้ประสบความสำเร็จ 6) กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสตาร์ทอัพยังไม่มีความชัดเจน และ 7) ธุรกิจสตาร์ทอัพไม่มีเครือข่ายทางธุรกิจที่มีองค์ความรู้อย่างเพียงพอที่จะเข้ามาร่วมกันเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจสตาร์ทอัพให้ประสบความสำเร็จและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อเสนอแนะแนวทางปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจสตาร์อัพ มีดังนี้ 1) ด้านผู้ประกอบการ ควรนำเอานวัตกรรมเข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการให้ตรงต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างเป็นรูปธรรม 2) ด้านภาคธุรกิจ ควรนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อนองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพก็จะสามารถประสบความสำเร็จสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และ 3) ด้านหน่วยงานภาครัฐต้องสร้างความเชื่อมั่นในการขับเคลื่อนธุรกิจสตาร์ทอัพให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-10-03