แนวทางการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพื่อนำไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนในภูมิภาค
คำสำคัญ:
ความตกลงการค้าเสรีบทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความตกลงเอฟทีเอในบริบทโลกใหม่ โดยเฉพาะเอฟทีเอที่ประเทศพัฒนาแล้วทำกับประเทศคู่ค้าในอาเซียน เปรียบเทียบกับมาตรฐานระหว่างประเทศ
หลักการค้าระหว่างประเทศ ก่อนจะทำการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความท้าทายของไทย ประโยชน์ และผลกระทบที่ไทยจะได้รับ ตลอดจนความเห็นท่าทีของผู้เกี่ยวข้องของไทย ต่อการจัดทำความเอฟทีเอในบริบทโลกใหม่ และนำเสนอแนวทางในการจัดทำเอฟทีเอฉบับใหม่ๆ ของไทย เพื่อที่จะนำไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนในภูมิภาคตามที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ โดยในการวิจัยจะเก็บรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิจากการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องของไทย ทั้งจากภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ เกษตรกร และภาคประชาสังคม และเก็บรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิจากการศึกษาวรรณกรรม เอกสารรายงาน การเข้าร่วมประชุมการค้าระหว่างประเทศในเวทีต่างๆ ตลอดจนข้อมูลจากโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำเอฟทีเอ รวมทั้งประโยชน์ ผลกระทบจากการจัดทำเอฟทีเอภายใต้กรอบต่างๆ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ เปรียบเทียบ ประกอบกับแนวคิด และทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้มาซึ่งแนวทางการจัดทำเอฟทีเอ เพื่อนำไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนในภูมิภาค
ผลการวิจัยพบว่า เอฟทีเอเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยนำไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนในภูมิภาคตามเป้าหมายที่ยุทธศาสตร์ชาติกำหนด เนื่องจากจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจของไทยในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะในเรื่องการสร้างแต้มต่อทางภาษีการลดอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี รวมถึงการค้าบริการ และการลงทุนในตลาดคู่เอฟทีเอ ตลอดจนการเชื่อมโยงการผลิตสินค้าและบริการของไทยเข้ากับห่วงโซ่มูลค่าโลก โดยการจัดทำเอฟทีเอในบริบทโลกใหม่ จะเป็นเอฟทีเอที่มีมาตรฐานสูงและมีระดับการเปิดเสรีที่มากขึ้น รวมถึงการกำหนดกฎเกณฑ์ทางการค้าที่มีมาตรฐานสูงกว่าความตกลงในองค์การการค้าโลก และครอบคลุมประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าในทุกมิติ เช่น การเปิดเสรีการค้าสินค้า การเปิดเสรีการค้าบริการและการลงทุน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การแข่งขันทางการค้า การคุ้มครองสิทธิแรงงาน การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม รัฐวิสาหกิจ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ซึ่งข้อจำกัดของไทย ได้แก่ ความพร้อมของภาครัฐ การปรับตัวของภาคเอกชน ความแตกต่างของระดับการพัฒนาของภาคเอกชนไทย ตลอดจนทัศนคติที่ไม่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง และปฏิเสธที่จะปรับตัวไปในแนวทางเดียวกันกับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
ดังนั้น ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากงานวิจัยชิ้นนี้ ได้แก่ การกำหนดแผนยุทธศาสตร์ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ ในการเจรจาจัดทำเอฟทีเอฉบับใหม่ๆ ของไทย การปรับการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัย สอดคล้องกับกฎเกณฑ์การค้าโลกและเป็นไปในแนวทางปกป้อง เอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจไทยอย่างเหมาะสม ตลอดจนการวางแผนพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีประสิทธิภาพ ด้วยการเสริมสร้างความรู้ และทักษะที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต นอกจากนี้ มีข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติการ ได้แก่ การศึกษาผลประโยชน์และประเมินผลกระทบของการจัดทำเอฟทีเอในบริบทโลกใหม่อย่างรอบคอบและรัดกุม โดยมีการบูรณาการทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้มาซึ่งท่าทีและบทสรุปที่เหมาะสมกับประเทศไทย ก่อนการพิจารณาตัดสินใจให้ไทยเข้าสู่การเจรจาจัดทำเอฟทีเอในบริบทโลกใหม่ รวมทั้งการดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อม สร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเอฟทีเอให้กับผู้มีส่วนได้เสียในการปรับตัวรองรับเอฟทีเอที่จะเกิดขึ้นเพิ่มเติมในอนาคต
คำสำคัญ : ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ)
Downloads
เผยแพร่แล้ว
ฉบับ
บท
License
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
บทความ ข้อเขียน หรือความคิดเห็นในนิตยสารนี้เป็นของผู้เขียน ไม่ผูกพันกับวิทยาลัย ป้องกันราชอาณาจักรและทางราชการแต่อย่างใด