การออกแบบทางหลวงพิเศษเพื่อส่งเสริมการเชื่อมต่อถนนสายรองและการเข้าถึงพื้นที่

ผู้แต่ง

  • Somboon Thaintummarchart -

คำสำคัญ:

การออกแบบทางหลวง, การเชื่อมต่อถนน, มอเตอร์เวย์, ทางยกระดับ

บทคัดย่อ

การศึกษานี้เป็นการวิเคราะห์ความเหมาะสมของรูปแบบการเชื่อมต่อทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองกับทางหลวงสายรองต่างๆ โดยใช้ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายวงแหวนกาญจนาภิเษก ด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง เป็นกรณีศึกษา การศึกษาพบว่าวิธีการออกแบบการเชื่อมต่อในประเทศสหรัฐอเมริกามักใช้ทางต่างระดับเชื่อมต่อทางสายรองโดยตรง ขณะที่ทางหลวงพิเศษกับทางสายรองในประเทศไทยมักใช้การเชื่อมต่อด้วยทางคู่ขนานก่อนเข้าสู่ด่านเก็บค่าผ่านทาง เพื่อแยกการจราจรทางหลักออกจากการจราจรท้องถิ่นที่มีความเร็วสูง ส่วนการเชื่อมต่อระหว่างทางหลวงพิเศษกับทางขนาดใหญ่ยังคงเป็นการเชื่อมต่อโดยใช้ทางแยกต่างระดับเพื่ออำนวยความสะดวกให้การจราจรสามารถเคลื่อนที่ได้ทุกทิศทาง ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายวงแหวนกาญจนาภิเษก ด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทองกำหนดให้มีทางขึ้น 8 จุด และทางลง 6 จุด  ซึ่งเชื่อมต่อด้วยทางคู่ขนานทั้งหมด และมีทางแยกต่างระดับทั้งหมด 5 แห่ง ทางแยกต่างระดับที่เป็นสามแยกใช้ทางต่างระดับแบบทรัมเปต และทางแยกต่างระดับที่เป็นสี่แยกใช้ทางแยกต่างระดับแบบผสมผสานระหว่างพาร์เชียลโคลเวอร์ลีฟและการเชื่อมต่อโดยตรง

      การคาดการณ์ปริมาณการจราจรที่เปลี่ยนแปลงไป ได้นำปริมาณการเดินทางที่เกิดขึ้นในอดีตมาสร้างแบบจำลองการคาดการณ์และใช้แนวโน้มผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Product: GPP) และ จำนวนประชากร (Population) เป็นตัวกำหนดการเติบโตของปริมาณจราจรในอนาคต เมื่อเปิดการให้บริการถนนโครงการกรณีฐาน (Base Case) ปี พ.ศ.2569 มีปริมาณจราจรเข้าระบบ 187,077 คันต่อวัน และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยระหว่าง ปี พ.ศ. 2569–2599 ร้อยละ 1.69ต่อปี เมื่อใช้อัตราค่าธรรมเนียมผ่านทาง 10+1.50 บาทต่อกิโลเมตรจะทำให้เกิดรายได้สูงสุด

      โครงการทางหลวงพิเศษนี้มีมูลค่าลงทุนรวมทั้งหมด 68,504.03 ล้านบาทตลอดอายุโครงการ 30 ปี การวิเคราะห์ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแสดงให้เห็นว่าตำแหน่งและรูปแบบของทางเชื่อมและทางต่างระดับมีความเหมาะสม ทำให้การจราจรไหลได้อย่างคล่องตัวบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านการลดเวลาการเดินทาง ลดค่าใช้จ่ายยานพาหนะ และลดอุบัติเหตุ โดยการวิเคราะห์ตัวชี้วัดที่สำคัญ ได้แก่ มูลค่าปัจจุบันสุทธิ 15,892.59 ล้านบาท อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน 1.39 และอัตราผลตอบแทนภายใน ร้อยละ 14.46 ซึ่งทั้งหมดเป็นค่าผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ แสดงให้เห็นว่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นเป็นผลประโยชน์ที่มีความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับทรัพยากรที่ต้องลงทุนและค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้น

เผยแพร่แล้ว

2023-04-25