การขจัดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของไทย ในบริบทการแก้ปัญหารายได้ของชาวนาไทย

ผู้แต่ง

  • Chayanant Tiyatrakarnchai -

คำสำคัญ:

ความเหลื่อมล้ำ, ความยากจนของชาวนา

บทคัดย่อ

ปัญหาความยากจนของชาวนาไทยที่สะสมมานานทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของชาวนากว่า 17 ล้านคน (ร้อยละ 56 ของเกษตกรไทย) ยิ่งมากขึ้น แม้รัฐบาลได้กำหนดให้การพัฒนาเศรษฐกิจข้าวเป็นเรื่องหลักในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันโดยยกระดับสู่การเกษตรสมัยใหม่ และยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำทุกมิติและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจฐานราก แต่ชาวนาไทยก็ยังคงประสบปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำนี้ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศไทย ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษา 1) สภาพปัญหาเกี่ยวกับรายได้ของชาวนาไทยในปัจจุบัน 2) ปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบของรายได้ของชาวนาไทย และ 3) ข้อเสนอแนวทางการขจัดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของไทยในบริบทการแก้ปัญหารายได้ของชาวนาไทย การศึกษานี้ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพแบบสัมภาษณ์เชิงลึกจากกลุ่มชาวนา กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียกับชาวนา และภาครัฐผู้กำหนดนโยบาย อย่างละ 4 คน ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเครื่องมือ SWOT และ PESTEL และสรุปผลการศึกษาตามวัตถุประสงค์การวิจัย
ที่ได้กำหนดไว้ ผลศึกษาพบว่า 1) สภาพปัญหาเกี่ยวกับรายได้ของชาวนาไทยในปัจจุบัน คือ ครอบครองที่ทำนาเฉลี่ย 16.7 ไร่ต่อราย และร้อยละ 30 ของกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนเป็นเกษตกร ซึ่งมีสาเหตุหลัก 8 ประเด็น ได้แก่ สภาพปัญหาของการตลาดข้าวทั้งอุปสงค์และอุปทาน ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ขาดการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ปัญหาระบบชลประทานและสภาพ
ดินเสื่อม งานวิจัยพันธุ์ข้าวและการพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าวไม่เพียงพอ ขาดการส่งเสริมทักษะและศักยภาพของชาวนาอย่างจริงจัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานไม่มีประสิทธิภาพ 2) ปัจจัยหลัก ๆ ที่เป็นองค์ประกอบของรายได้ของชาวนาไทย ได้แก่ สภาพการเมือง เศรษฐศาสตร์ สังคม เทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานในการผลิตข้าว และกฎหมายข้อบังคับ และ 3) ข้อเสนอแนวทางการขจัดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของไทยในบริบทการแก้ปัญหารายได้ของชาวนาไทย พบว่ามี 5 แนวทาง ได้แก่ 1) การปฏิรูปกระบวนการทำนาให้ใช้เทคโนโลยีการเกษตรเพื่อทำให้ผลผลิตเพิ่มและต้นทุนลดลง รวมถึงการมุ่งส่งเสริมให้ทำนาแบบผสมผสานและทำนาแปลงใหญ่อย่างจริงจัง และพัฒนาทักษะของชาวนา 2) การจัดทำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศแพลตฟอร์มข้าวแห่งชาติ ที่จะบูรณาการข้อมูลเกี่ยวกับข้าวจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งระบบเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรื่องข้าวและการแก้ปัญหาความยากจนของชาวนาแบบพุ่งเป้า 3) ยุทธศาสตร์การตลาดเชิงรุก ทั้ง 4Ps ประกอบด้วย (3.1) กลยุทธ์ผลิตภัณฑ์คือการส่งเสริมการวิจัยพันธุ์ข้าวและพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวแปรรูป (3.2) กลยุทธ์การตั้งราคาที่สะท้อนต้นทุน (Cost-Plus Pricing Strategy) จัดโครงสร้างกำไรภายในระบบห่วงโซ่อุปทานใหม่เพื่อให้สมดุลและเกิดความเป็นธรรมมากขึ้น ยกเลิกนโยบายชดเชยรายได้ของชาวนา (ประมาณ 150,000 ล้านบาทต่อปี) และการส่งเสริม“การประกันความเสี่ยงราคาแปรปรวน” (3.3) การปฏิรูปช่องทางจำหน่ายโดยลดขั้นตอนที่ซับซ้อนด้วย “ตลาดเกษตรกรออนไลน์” (3.4) การส่งเสริมการตลาดส่งออกโดยการเพิ่มยอดขายในตลาดเดิมที่มีศักยภาพและเปิดตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ 4) การปรับปรุงกฎหมาย พระราชบัญญัติข้าวและกองทุนชาวนา และ 5) ปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ การปรับโครงสร้างกรมการข้าว ให้มีอำนาจการบริหารแบบเสร็จสรรพ เช่นเดียวกับกรมปศุสัตว์
ส่วนกระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบการควบคุมราคาสินค้าภายในประเทศและการตลาดส่งออก นอกจากนี้ยังเน้นการส่งเสริมให้เกษตรกรรุ่นใหม่ (Start-up) มาบริหารจัดการทำนาอย่างมืออาชีพ และจัดให้มี Sandbox การทำนาแปลงใหญ่เพื่อแสดงให้ชาวนาเห็นผลดำเนินจากแบบแปลงใหญ่ว่ามีรายได้มากกว่าแบบดั่งเดิม และต้องการเข้าร่วมโครงการนาแปลงใหญ่อย่างเต็มใจ และหากบรรลุเป้าหมายตามการศึกษานี้ ผลผลิตต่อไร่จะเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปัจจุบัน ลดต้นทุนการผลิตร้อยละ 20 และกำไรเพิ่มขึ้น 3 บาทต่อกก. ก็จะทำให้รายได้ของชาวนาเพิ่มขึ้น 132,000 บาทต่อราย นั่นหมายถึงว่า ชาวนาจะมีรายได้พ้นเส้นความยากจน (2,686 บาทต่อเดือน) จะมีรายได้มั่นคงสามารถดูแลตนเอง-ครอบครัว และดำรงชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรี นั่นหมายความว่ารัฐบาลจะสามารถขจัดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของคนไทยได้ร้อยละ 30

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-05-23