การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กทางเลือกและความท้าทาย ของการยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทย

ผู้แต่ง

  • Nataphol Teepsuwan -

คำสำคัญ:

โรงเรียนคุณภาพชุมชน, โรงเรียนขนาดเล็ก

บทคัดย่อ

หลังจากการประกาศนโยบายการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาล ภายใต้การขับเคลื่อนของกระทรวงศึกษาธิการ โดยหนึ่งในนโยบายการปฏิรูปการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา คือ การ “ควบรวม” โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน ทำให้เกิดการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางทั้งในแง่ของหลักการ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับนักเรียน โดยข้อมูลปรากฏชัดเจนว่าจำนวนนักเรียนต่อสถานศึกษานั้นมีแนวโน้มลดลงอย่างมากจาก 814.84 คนต่อแห่ง เป็น 721.30 คนต่อแห่ง ซึ่งการมีจำนวนโรงเรียนไม่สอดคล้องกับแนวโน้มจำนวนนักเรียน และการมีจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กนั้น เกิดจากการบริหารทรัพยากรทั้งจำนวนบุคลากร และจำนวนเงินงบประมาณแผ่นดินโดยอ้างอิงจากจำนวนนักเรียน ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลางมีงบประมาณไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการการศึกษาให้มีคุณภาพ เมื่อวิเคราะห์ตามสภาพปัญหา 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรครู การจัดสรรจำนวนครูต่อจำนวนนักเรียน จะเห็นว่าต้นทุนผันแปรจะเพิ่มขึ้นตามจำนวน สำหรับโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า 140 คนนั้นจะสามารถได้รับการจัดสรรครูเพียง 7 คน ซึ่งไม่ครบชั้นเรียนและสาขาวิชา และทำให้นักเรียนขาดโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพ 2) สังคมในการเรียนรู้ การเข้าสังคมมีความสำคัญ หากนักเรียนได้ใช้เวลากับเพื่อนร่วมชั้นเรียน หรือร่วมโรงเรียนน้อย จะทำให้สูญเสียความสามารถในการเข้าสังคม 3) การประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก การบริหารจัดการต้นทุนถูกลง รวมไปถึงการระดมทุนเพื่อช่วยสมทมทุนด้านการบริหารจัดการศึกษาสามารถทำได้ง่ายขึ้น การควบรวมโรงเรียนเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องเร่งดำเนินการ คือการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพการบริหารจัดการสถานศึกษา โดยมุ่งเน้นให้นักเรียนมีโอกาสในการพัฒนาทักษะในการเข้าสังคมร่วมกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนจำนวนมากขึ้น เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพมากขึ้น มีจำนวนครูที่เพียงพอต่อจำนวนชั้นเรียน และจำนวนสาขาวิชา เพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-05-23