แนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการจราจรในอวกาศเพื่อความปลอดภัยของประเทศไทย

ผู้แต่ง

  • Pakorn Apaphant -

คำสำคัญ:

เทคโนโลยีอวกาศ, จราจรอวกาศ, ดาวเทียม

บทคัดย่อ

เทคโนโลยีอวกาศมีความก้าวหน้าและพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้นทุนของการสร้างดาวเทียมและการส่งดาวเทียมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้จำนวนขยะอวกาศ มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น
อย่างต่อเนื่อง ขยะอวกาศเหล่านี้โคจรด้วยความเร็วสูงมาก สามารถสร้างความเสียหายให้กับดาวเทียมส่งผลให้ดาวเทียมมีประสิทธิภาพการปฏิบัติภารกิจลดลงหรือไม่สามารถปฏิบัติภารกิจต่อได้และกลายเป็นขยะอวกาศ ตัวอย่างเช่น กรณีการชนของดาวเทียม Iridium 33 สหรัฐอเมริกา และขยะอวกาศ Cosmos-2251 ของรัสเซียที่เสร็จสิ้นภารกิจ ในปี ค.ศ. 2009 ประเทศไทยจำเป็นต้องมีนโยบายและเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันและบรรเทาภัยจากขยะอวกาศ ดังนั้นวัตถุประสงค์หลักของการวิจัยเรื่องนี้ คือ เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ทิศทางการกำหนดนโยบายและแนวทาง
การพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการจราจรอวกาศของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาในเชิงพาณิชย์
และนำมาปรับเป็นแนวทางนโยบายและการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศไทย

                ผลการวิจัยพบว่าแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการจราจรอวกาศของประเทศไทย ยังขาดหลายองค์ประกอบที่สำคัญแม้ว่าจะมีแผนการดำเนินการวิจัยพัฒนาจากแผนวิจัยขั้นแนวหน้าและร่างแผนแม่บทกิจการอวกาศ จากการศึกษาวิเคราะห์ของผู้วิจัยสามารถสรุปแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการจราจรอวกาศสำหรับประเทศไทย ประกอบด้วย 4 ประเด็น ดังนี้
1. การวางนโยบาย กฎระเบียบ และการควบคุมการจราจรอวกาศของประเทศไทย 2. แผนการวิจัย
3. การส่งเสริมให้ภาคเอกชนดำเนินธุรกิจทางด้านการจัดจราจรอวกาศ 4. การพัฒนาขีดความสามารถ
ของบุคลากรเฉพาะด้านทางเทคโนโลยีการจัดการจราจรอวกาศ นโยบายเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมสร้างความปลอดภัยและความมั่นคงทางกิจกรรมอวกาศของประเทศไทย สนับสนุนการสร้าง
ขีดความสามารถการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและสร้างโอกาสส่งเสริมการเติบโตอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับทางด้านเทคโนโลยีการจัดการจราจรอวกาศจากนานาชาติ และส่งเสริมผลักดันยกระดับประเทศไทย เข้าสู่เศรษฐกิจอวกาศใหม่ หรือ new space economy

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-06-09