แนวทางการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดความมั่นคงอาหารในระดับจังหวัดของประเทศไทย

ผู้แต่ง

  • Chantanon Wannakejohn -

คำสำคัญ:

เทคโนโลยีสารสนเทศ, ความมั่นคงอาหาร, ปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนระดับจังหวัด

บทคัดย่อ

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี มีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกการดำเนินงานในมิติต่างๆ รวมถึงมิติด้านข้อมูลสารสนเทศ ซึ่งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ จะสนับสนุนให้ข้อมูลสารสนเทศมีความถูกต้อง แม่นยำและรวดเร็วเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ประเด็นความมั่นคงอาหาร เป็นประเด็นหนึ่งที่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับพื้นที่ ทั้งนี้ อาหารที่มีความปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการจะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพในการทำงานและส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ ซึ่งบทความนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารในระดับโลก ประเทศไทย และจังหวัด รวมถึงวิเคราะห์ปัจจัย ปัญหา อุปสรรคที่ส่งผลต่อการเสริมสร้างความมั่นคงอาหารและโภชนาการในระดับจังหวัดจากฐานข้อมูลปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญและสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารในระดับจังหวัด และเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนความมั่นคงอาหารในระดับจังหวัดของประเทศไทย   ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด

โดยผลการศึกษาพบว่า สถานการณ์ความมั่นคงอาหารและโภชนาการทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ และระดับจังหวัด ยังมีความเปราะบาง สะท้อนจากตัวเลขของจำนวนผู้ขาดสารอาหาร และผลการประเมินความมั่นคงอาหารของไทยโดยหน่วยงานระดับโลก อย่างไรก็ดี หากมองในมิติของอัตราการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร ไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ในหมู่โภชนาการหลัก ยกเว้นไขมัน ซึ่งการคำนวณอัตราการพึ่งพาตนเองด้านอาหารเป็นการวิเคราะห์ความพอเพียงหมู่โภชนาการเบื้องต้นเท่านั้น ในมิติของระดับจังหวัด ทุกจังหวัดต้องมีการจัดทำแผนเตรียมความพร้อมอาหารในกรณีวิกฤตเป็นประจำทุกปี แต่ในแผนเตรียมความพร้อมด้านอาหาร ยังไม่มีการคำนวณความพอเพียงของอาหารที่มีแนวทางหรือหลักการที่แน่นอน สำหรับการวิเคราะห์ความพอเพียงของสารอาหารต่อประชากรจากข้อมูลปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญและสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารในระดับจังหวัด ของ 77 จังหวัด ของสารอาหารสำคัญ 5 ประเภท ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน เกลือแร่ (แคลเซียม โพแทสเซียมและเหล็ก) วิตามิน (เอ ซีและอี) พบว่า คาร์โบไฮเดรต มีจังหวัดที่ไม่มีความพอเพียง คิดเป็นร้อยละ 28.57 โดยส่วนใหญ่เป็นจังหวัดในภาคใต้ สำหรับโปรตีน มีจังหวัดที่ไม่มีความพอเพียง จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ในส่วนของไขมัน มีจังหวัดที่ไม่มีความพอเพียง จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต บุรีรัมย์ นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร สำหรับแคลเซียม มีจังหวัดที่ไม่มีความพอเพียง คิดเป็นร้อยละ 66.23 ในส่วนของโพแทสเซียม มีจังหวัดที่ไม่มีความพอเพียงคิดเป็นร้อยละ 57.14 สำหรับเหล็ก มี 9 จังหวัดที่ไม่มีความพอเพียง ได้แก่ นนทบุรี ตราด สมุทรสาคร สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สตูล สุราษฎร์ธานี พัทลุง และกระบี่ ในส่วนของวิตามินเอและวิตามินอี ไม่มีจังหวัดที่มีความพอเพียง ส่วนวิตามินซี มีจังหวัดที่ไม่มีความพอเพียง คิดเป็นร้อยละ 42.85
จะเห็นได้ว่า จังหวัดไม่มีความพอเพียงของสารอาหารทุกหมู่ คือ สมุทรสาคร สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร โดยผลการวิเคราะห์ความพอเพียงของสารอาหาร เป็นการวิเคราะห์เบื้องต้น โดยใช้ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตร และจำนวนประชากร เป็นปัจจัยหลัก ทั้งนี้ ไม่ได้ครอบคลุมปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น รายได้ของประชากรในจังหวัด จำนวนประชากรต่อพื้นที่ และการใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นต้น

ผู้วิจัยจึงได้เสนอแนวทางการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดความมั่นคงอาหารในระดับจังหวัดของประเทศไทย ประกอบด้วย มิติความมีอยู่ของอาหาร ควรปรับใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการแสดงผลความพอเพียงของสารอาหารในแต่ละจังหวัด และจัดทำแนวทางในการเก็บข้อมูลการกระจายผลผลิตและการนำเข้าผลผลิตเข้าสู่จังหวัด หรือแสวงหาวิธีการในการได้มาซึ่งข้อมูลในเชิงวิชาการ จะช่วยทำให้      การคำนวณความพอเพียงของสารอาหารมีความครบถ้วน แม่นยำ และสะท้อนสถานการณ์การผลิตในจังหวัดมากขึ้น มิติการเข้าถึงอาหาร แสดงผลข้อมูลสถานประกอบการจำหน่ายสินค้าเกษตร ราคาสินค้าเกษตรและอาหาร รายได้ของประชากรในแต่ละจังหวัดผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ จะช่วยให้จังหวัดสามารถบริหารจัดการความมั่นคงอาหารในมิติของการเข้าถึงอาหารในกรณีที่จังหวัดยังไม่มีความพอเพียงของอาหารในแต่ละชนิดได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มิติเรื่องการใช้ประโยชน์จากอาหาร การเชื่อมต่อข้อมูลการรับรองการปฏิบัติที่ดีสำหรับสินค้าพืช ปศุสัตว์และประมง ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ จะช่วยให้จังหวัดสามารถระบุพิกัดในการส่งเสริมการตรวจรับรอง GAP ได้ นอกจากนี้ ข้อมูลปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนระดับจังหวัด แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของชนิดสินค้าในแต่ละพื้นที่ ซึ่งหากมีการนำข้อมูลคุณค่าโภชนาการมาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ จะช่วยให้ประชากรไทยสามารถเลือกบริโภคอาหารที่มีความหลากหลายและส่งผลต่อความหลากหลายของสารอาหารในการบริโภคให้กับประชากร มิติเสถียรภาพด้านอาหาร ปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนระดับจังหวัดสามารถแสดงผลข้อมูลผลผลิตสินค้าเกษตร ในมิติด้านเวลาและพิกัดสถานที่ จึงจะช่วยอำนวยความสะดวกในการแก้ไขปัญหาความขาดแคลนได้ทันท่วงที โดยหากใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ จะทำให้จังหวัดสามารถรับทราบสถานการณ์การผลิตของจังหวัดตนเอง และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของพื้นที่เพาะปลูกของสินค้าแต่ละชนิด จะช่วยสนับสนุนการบูรณาการข้อมูลสำหรับการเสริมสร้างความมั่นคงอาหารได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-09-05