การประเมินความต้องการจำเป็นในการพัฒนารูปแบบเชิงนวัตกรรมการจัดการศึกษา แบบบูรณาการสำหรับโรงเรียนเทศบาล สังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (Need Assessment of the Development of Innovation Model for Integrated Education Management of School District under the Department of Local Administration)
คำสำคัญ:
การประเมินความต้องการจำเป็น การจัดการศึกษา โรงเรียนเทศบาลบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาและเปรียบเทียบการปฏิบัติงานที่เป็นจริงและการปฏิบัติงานที่คาดหวังในการจัดการศึกษาของโรงเรียนเทศบาล 2) ประเมินความต้องการจำเป็นในการพัฒนารูปแบบเชิงนวัตกรรมการจัดการศึกษาแบบบูรณาการของโรงเรียนเทศบาล และ 3) ศึกษาแนวทางในการพัฒนารูปแบบเชิงนวัตกรรมการจัดการศึกษาแบบบูรณาการของโรงเรียนเทศบาล ประชากร คือ ผู้บริหาร จำนวน 23 คน และครูผู้สอน จำนวน 387 คน กำหนดกลุ่มตัวอย่างด้วยการเปิดตารางสำเร็จรูปของเครจซี่และมอร์แกน ที่ระดับความคลาดเคลื่อน 5% กลุ่มตัวอย่างผู้บริหารจำนวน 20 คน และครูผู้สอนจำนวน 191 คน ใช้แบบสอบถาม และแบบสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือในการวิจัย วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าดัชนี PNImodified และ วิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) สรุปผลการวิจัยได้ดังนี้
- ผลการปฏิบัติงานที่เป็นจริงภาพรวมอยู่ในระดับมาก ( = 3.93, S.D. = 0.60) ส่วนการปฏิบัติงานที่คาดหวังภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.59, S.D. = 0.51) และผลการเปรียบเทียบการปฏิบัติงานที่เป็นจริงและการปฏิบัติงานที่คาดหวังด้วยวิธีวิเคราะห์เมทริกซ์ พบว่า อยู่ในเมทริกซ์ส่วนที่ 2 ทุกองค์ประกอบ คือ ผลงานประสบความสำเร็จดี ณ จุดตัดค่าเฉลี่ย 3.5
- ผลการประเมินความต้องการจำเป็น พบว่า ค่าดัชนีความต้องการจำเป็น (PNImodified) มีค่าอยู่ระหว่าง 0.14 - 0.24 ด้านบทบาทการนำองค์กรของผู้บริหารสถานศึกษามีค่าดัชนี PNImodified สูงสุดเท่ากับ 0.24 และด้านผลลัพธ์การปฏิบัติงานของสถานศึกษามีค่าดัชนี PNImodified ต่ำสุด เท่ากับ 0.14
- แนวทางการในการพัฒนารูปแบบเชิงนวัตกรรมการจัดการศึกษาแบบบูรณาการของโรงเรียนเทศบาล พบว่า จากการสัมภาษณ์การพัฒนารูปแบบมี 3 ประเด็นที่ต้องพิจารณา ได้แก่ 1) องค์ประกอบการบริหารจัดการศึกษา 2) ความต้องการรูปแบบเชิงนวัตกรรมการจัดการศึกษาแบบบูรณาการของโรงเรียนเทศบาล และ 3) ความสามารถของโรงเรียนเทศบาลกับการจัดการศึกษาแบบมุ่งเน้นความเป็นเลิศ