แนวทางการพัฒนาสมรรถนะการทำวิจัยในชั้นเรียนของครูผู้สอนระดับประถมศึกษา: การประเมินความต้องการจำเป็นสมบูรณ์ (Guidelines of Developing Classroom Research Competency for Teachers in Primary School: Complete Needs Assessment)

ผู้แต่ง

  • ภณิดา ชูช่วยสุวรรณ (Phanida Chuchuaysuwan)
  • ยุวรี ญานปรีชาเศรษฐ (Yuwaree Yanprechaset)

คำสำคัญ:

วิจัยในชั้นเรียน/ การประเมินความต้องการจำเป็น

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) กำหนดและจัดลำดับความต้องการจำเป็นเรื่องสมรรถนะการทำวิจัยในชั้นเรียนของครูผู้สอนระดับประถมศึกษา 2) วิเคราะห์สาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการทำวิจัยในชั้นเรียน และ 3) เพื่อกำหนดทางเลือกในการแก้ปัญหาของการทำวิจัยในชั้นเรียนที่เหมาะสม การวิจัยนี้เก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถาม โดยผู้ตอบแบบสอบถาม คือ ครูผู้สอน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบุรี เขต 1 จำนวน 303 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าสถิติพื้นฐาน และการใช้เทคนิค Modified Priority Needs Index และใช้การสนทนากลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยในชั้นเรียน จำนวน 7 ท่าน ร่วมกันวิเคราะห์สาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหา โดยประยุกต์ใช้แนวคิดต้นไม้แห่งความล้มเหลวเพื่อวิเคราะห์สาเหตุและดำเนินการสนทนากลุ่มเพื่อกำหนดทางเลือกในการแก้ปัญหาของการพัฒนาสมรรถนะการทำวิจัยในชั้นเรียนของครูผู้สอนระดับประถมศึกษา ผลการวิจัย พบว่า 1. ครูมีความต้องการพัฒนาสมรรถนะการทำวิจัยในชั้นเรียน ด้านความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการวิเคราะห์ข้อมูล ด้านความสามารถใช้สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล และด้านความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ 2. สาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการทำวิจัยในชั้นเรียน พบว่า เกิดจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการทำวิจัย ไม่สามารถใช้สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูลได้เหมาะสม และไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการทำวิจัย 3. ทางเลือกในการแก้ปัญหา คือ 1) ควรจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้แก่ครูอย่างต่อเนื่อง 2) มีการนิเทศ ติดตาม 3) หลักสูตรผลิตครู ควรเน้นสอนการวิจัยในชั้นเรียน และควรสอนความเชื่อมโยงสู่การปฏิบัติจริง 4) ผู้บริหารควรคิดหาแนวทางสร้างแรงจูงใจ และ 5) รัฐควรพัฒนาครูให้มีความคิดสร้างสรรค์

เผยแพร่แล้ว

2020-10-11

ฉบับ

บท

บทความวิจัย