ผลการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ด้วยหนังสืออิเล็กทรอนิกส์แบบสืบสวนสอบสวน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีความสามารถในการเรียนรายวิชาวิทยาศาสตร์ต่างกัน (The Critical Thinking Results by Inquiry-method Electronic Books for Different Abilities in Studying Science Courses of Mathayomsuksa 1 Students)
คำสำคัญ:
การคิดอย่างมีวิจารณญาณ, หนังสืออิเล็กทรอนิกส์แบบสืบสวนสอบสวนบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อเปรียบเทียบคะแนนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ก่อนและหลังเรียนโดยการเรียนด้วยหนังสืออิเล็กทรอนิกส์แบบสืบสวนสอบสวน 2) เพื่อเปรียบเทียบคะแนนการคิด อย่างมีวิจารณญาณ หลังเรียนระหว่างกลุ่มของนักเรียนที่มีความสามารถทางการเรียนในรายวิชาวิทยาศาสตร์ กลุ่มสูง กลุ่มกลาง และกลุ่มต่ำ 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีต่อหนังสืออิเล็กทรอนิกส์แบบสืบสวนสอบสวน กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนชุมชนวัดรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 30 คน โดยการสุ่ม อย่างง่าย เครื่องมือในการวิจัยประกอบด้วย 1) แผนการจัดการเรียนรู้ 2) หนังสืออิเล็กทรอนิกส์แบบสืบสวนสอบสวน 3) แบบวัดความสามารถการคิดอย่างมีวิจารณญาณก่อนเรียนและหลังเรียน 4) แบบประเมิน ความพึงพอใจที่มีต่อหนังสืออิเล็กทรอนิกส์แบบสืบสวนสอบสวน เรื่องภาวะโลกร้อน ผลการวิจัยพบว่า 1) ผลการคิดอย่างมีวิจารณญาณหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05 2) ผลการเปรียบเทียบการคิดอย่างมีวิจารณญาณก่อนเรียนและหลังเรียนระหว่างกลุ่ม ที่มีความสามารถในการเรียนรายวิชาวิทยาศาสตร์ต่างกัน ด้วยการจัดการเรียนรู้ด้วยหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ แบบสืบสวนสอบสวน พบว่า มีความแตกต่างกัน โดยนักเรียนกลุ่มสูงมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 23.20 นักเรียน กลุ่มปานกลางมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 16.90 นักเรียนกลุ่มต่ำมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 12.10 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3) ความพึงพอใจของนักเรียนในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.63 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.48