ความฉลาดทางอารมณ์ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ของนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี (Emotional Intelligence Affecting Quality of Life of Merchant Marine Cadets at Merchant Marine Training Centre)

ผู้แต่ง

  • ภูมิวรพล กุณทา (Phomvoraphon Guntha) สาขาวิชาการบริหารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • มัทนา วังถนอมศักดิ์ (Mattana Wangthanomsak )

คำสำคัญ:

ความฉลาดทางอารมณ์, คุณภาพชีวิต

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาระดับความฉลาดทางอารมณ์ของนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ 2) เพื่อศึกษาระดับคุณภาพชีวิตของนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ 3) เพื่อศึกษาปัจจัยความฉลาดทางอารมณ์ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี กลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนเดินเรือพาณิชย์หลักสูตรวิทยาการเดินเรือและหลักสูตรวิศวกรรมเครื่องกลเรือ จำนวน 275 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับความฉลาดทางอารมณ์ของนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ตามแนวคิดของโกลแมน (Goleman) และคุณภาพชีวิตของนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ตามแนวคิดของเซอร์กี้และคณะ (Sirgy et al) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ความถี่ ร้อยละ มัชฌิมเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน ผลการวิจัยพบว่า 1. ความฉลาดทางอารมณ์ของนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี โดยภาพรวมและ รายด้าน อยู่ในระดับมาก เรียงตามลำดับค่ามัชฌิมเลขคณิตจากมากไปน้อย ดังนี้ ด้านการจูงใจตนเอง ด้านทักษะทางสังคม ด้านการควบคุมตนเอง ด้านความตระหนักรู้ในตนเอง และด้านการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น 2. คุณภาพชีวิตของนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ โดยภาพรวมและรายด้าน อยู่ในระดับมาก เรียงตามลำดับค่ามัชฌิมเลขคณิตจากมากไปน้อย ดังนี้ ด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการต่าง ๆ ด้านทักษะทางสังคม และด้านวิชาการ ตามลำดับ 3. ความฉลาดทางอารมณ์ด้านการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นและด้านทักษะทางสังคมส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวีโดยรวม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

เผยแพร่แล้ว

2021-12-29

ฉบับ

บท

บทความวิจัย