การพิจารณาบทความตีพิมพ์

วารสารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (Political Science and Public Administration, Khon Kaen University [PSPSJ-KKU]) เป็นวารสารวิชาการราย 6 เดือน กำหนดออกปีละ 2 ฉบับ (ฉบับเดือนมกราคม - มิถุนายน และ ฉบับกรกฎาคม - ธันวาคม) มีการพิจารณาตีพิมพ์บทความในรูปแบบที่ผู้พิจารณาไม่ทราบชื่อผู้แต่งและผู้แต่งไม่ทราบชื่อผู้พิจารณา (Double-blind peer review)

วารสารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดรับบทความทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ประเภทบทความวิจัย (Research article) บทความปริทัศน์ (Review article) บทวิจารณ์หนังสือ (Book review) และบทความประเภทอื่น ๆ ที่มีเนื้อหาด้านรัฐศาสตร์ ปรัชญาการเมือง ทฤษฎีการเมือง การเมืองเปรียบเทียบ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การจัดการความขัดแย้ง นโยบายระหว่างประเทศ รัฐประศาสนศาสตร์ การจัดการสาธารณะ นโยบายสาธารณะ การจัดการองค์กรภาครัฐและเอกชน การคลังสาธารณะ การบริหารทรัพยากรมนุษย์ และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นบทความที่ไม่เคยตีพิมพ์หรือไม่อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่ใดมาก่อน

เกณฑ์การพิจารณาบทความที่เสนอเพื่อพิจารณาตีพิมพ์

1. พิจารณาเบื้องต้นโดยกองบรรณาธิการภายใน 1 เดือน นับจากวันที่แจ้งยืนยันการได้รับผลงาน

2. หลังจากผ่านการพิจารณาเบื้องต้น กองบรรณาธิการจะนำบทความส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 2 - 3 ท่าน เป็นผู้พิจารณาเนื้อหาและตรวจสอบคุณภาพทางวิชาการภายใน 2 - 4 เดือน

3. กองบรรณาธิการจะส่งบทความพร้อมข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้ตรวจสอบความถูกต้อง และส่งบทความกลับมายังกองบรรณาธิการอีกครั้งภายใน 15 วัน

ลิขสิทธิ์

บทความที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคุณภาพบทความเพื่อตีพิมพ์ในวารสารจะต้องไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อนหรืออยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อตีพิมพ์ในสิ่งพิมพ์ทางวิชาการอื่น และเมื่อได้รับการยืนยันยอมรับให้มีการตีพิมพ์แล้ว จะถือว่าบทความหรือสิงพิมพ์ทางวิชาการดังกล่าวเป็นลิขสิทธิ์การตีพิมพ์ (Publishing Rights) ของวารสารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หากผู้แต่งมีความประสงค์ทำซ้ำ ปรับปรุงแก้ไข เพิกถอนการตีพิมพ์ หรือการกระทำอื่นใดที่จะกระทบต่อสาระสำคัญของบทความหรือสิงพิมพ์ทางวิชาการดังกล่าว ต้องได้รับอนุญาติจากกองบรรณาธิการเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนการดำเนินการดังว่า

จริยธรรมการตีพิมพ์บทความในวารสาร

เพื่อให้การตีพิมพ์บทความและการบริหารจัดการวารสารเป็นไปโดยถูกต้องสอดคล้องกับมาตรฐานและจริยธรรมทางวิชาการ วารสารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (Political Science and Public Administration, Khon Kaen University [PSPSJ-KKU]) จึงได้มีการกำหนดแนวปฏิบัติตามมาตรฐานในการตีพิมพ์ของวารสารฯ ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด ดังต่อไปนี้

บทบาทและหน้าที่รับผิดชอบสำหรับบรรณาธิการและกองบรรณาธิการ

1. ดำเนินการพิจารณา ตรวจสอบ และพัฒนาปรับปรุงให้บทความที่เสนอเข้าสู่กระบวนการตีพิมพ์เป็นไปตามมาตรฐานทางจริยธรรมและคุณภาพทางวิชาการของผลงานทางวิชาการในแต่ละประเภท มีความสอดคล้องกับขอบเขตและวัตถุประสงค์ของวารสาร ตลอดจนควบคุมคุณภาพของการเผยแพร่ผลงานวิชาการในวารสารให้ตรงตามความประสงค์ของผู้นิพนธ์และผู้อ่าน

2. มีหน้าที่รับผิดชอบให้ขั้นตอนและกระบวนการพิจารณาคุณภาพของบทความเพื่อตีพิมพ์ในวารสารมีความเป็นมาตรฐานเดียวกันตามที่กำหนดไว้ ปราศจากอคติส่วนตัวและเป็นไปหลักเหตุผลทางวิชาการของศาสตร์และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการธำรงไว้ซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ

3. มีหน้าที่อำนวยการให้กระบวนการจัดพิมพ์วารสารเป็นไปโดยต่อเนื่อง สม่ำเสมอตามห้วงเวลาที่กำหนด เป็นมาตรฐานเดียวกัน และหากมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญของกระบวนการจัดพิมพ์เผยแพร่เกิดขึ้น (การให้ความเห็นชอบตีพิมพ์ แก้ไขปรับปรุง และการถอดถอนบทความ) กองบรรณาธิการคงไว้ซึ่งอิสระในการตัดสินโดยใช้ดุลยพินิจบนฐานเหตุผลและลิขสิทธิ์ที่ถูกต้องเป็นธรรมระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้อง

4. ต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียหรือเข้าไปเกี่ยวข้องในผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดพิมพ์วารสาร ไม่ว่าจะเป็นระหว่างกองบรรณาธิการ ผู้นิพนธ์ และผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาคุณภาพบทความ ทั้งผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจและผลประโยชน์ทางวิชาการที่ไม่พึงได้ใด ๆ หรือความขัดแย้งใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับสาระสำคัญของการให้ได้มาซึ่งผลงานที่มีมาตรฐานทางจริยธรรมและคุณภาพทางวิชาการ

บทบาทและหน้าที่รับผิดชอบสำหรับผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาคุณภาพบทความ

1. มีการพิจารณาให้ความเห็นและตัดสินคุณภาพของบทความวิชาการประเภทต่าง ๆ ที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาบทความของวารสาร โดยใช้ฐานของเหตุผลทางวิชาการเป็นสำคัญ มีความยุติธรรมและปฏิบัติตามจรรยาบรรณทางวิชาการและวิชาการ ปราศจากอคติส่วนตัว และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นใด

2. ต้องไม่เปิดเผยบทบาทความรับผิดชอบในฐานะผู้ประเมินบทความที่อาจสืบทราบไปได้ว่าตนเองเป็นผู้ประเมินคุณภาพบทความใดบทความหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง และไม่ใช้ฐานะผู้ประเมินบทความของตนไปแสวงประโยชน์ในเชิงธุรกิจและผลประโยชน์ทางวิชาการที่ไม่พึงได้ใด ๆ

3. ต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผย (Confidentiality) ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลใด ๆ ของบทความตลอดช่วงระยะเวลาของกระบวนการพิจารณาคุณภาพบทความที่ได้รับมอบหมาย โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือมีความเห็นเป็นอื่นจากกองบรรณาธิการ

4. มีความตระหนักในความเชี่ยวชาญและความสอดคล้องเหมาะสมของตนในการเป็นผู้ประเมินบทความที่ได้รับมอบหมายจากทางวารสาร และสามารถให้ผลการประเมินได้ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดโดยกองบรรณาธิการ

5. รายงานข้อสังเกตถึงความผิดปกติหรือการกระทำผิดมาตรฐานจริยธรรมทางวิชาการในบทความที่ได้รับมอบหมายให้กองบรรณาธิการทราบโดยไม่รอช้า หรือหากมีการปฏิเสธการประเมินหรือมีผลการประเมินที่อาจให้โทษอันเกี่ยวข้องกับจริยธรรมทางวิชาการของผู้นิพนธ์ (อาทิ การคัดลอกผลงาน การซ้ำซ้อน และการเหมือนกับผลงานชิ้นอื่น เป็นต้น) ต้องมีการแสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจน

บทบาทและหน้าที่รับผิดชอบสำหรับผู้นิพนธ์

1. มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการจัดเตรียมร่างต้นฉบับบทความที่ต้องการส่งเข้าสู่กระบวนการพิจารณาเพื่อตีพิมพ์บทความในวารสารให้มีความถูกต้องเป็นไปตามคำแนะนำและรูปแบบในการจัดพิมพ์ของวารสารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตลอดจนการนำร่างบทความดังกล่าวและแบบเสนอบทความเพื่อพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารฯ เข้าสู่ระบบการจัดการวารสารไทยแบบออนไลน์ (Thai Journal Online) ซึ่งถือเป็นการยอมรับในกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดพิมพ์วารสารฯ และมาตรฐานจริยธรรมทางวิชาการของวารสาร ทั้งที่กำหนดโดยวารสารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และจรรยาบรรณทางวิชาการและวิชาชีพอื่น ๆ โดยทั่วไปตามความเหมาะสม

2. บทความที่ผู้นิพนธ์ส่งมาเพื่อพิจารณาตีพิมพ์ต้องไม่เคยตีพิมพ์หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารหรือสิ่งพิมพ์ทางวิชาการอื่นใดมาก่อน และผู้นิพนธ์ต้องยินยอมโอนลิขสิทธิ์ให้แก่วารสารก่อนการตีพิมพ์ และไม่นำผลงานไปเผยแพร่หรือตีพิมพ์กับแหล่งอื่นใดอีก เมื่อได้รับการแจ้งให้ทราบถึงการยอมรับตีพิมพ์กับวารสารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แล้ว

3. ชื่อและรายละเอียดของ (กลุ่ม) ผู้นิพนธ์ การแบ่งสัดส่วนการทำงาน คำขอบคุณ และความรับผิดรับชอบและผลประโยชน์ทับซ้อน ตลอดจนถ้อนแถลงอื่นใดที่เป็นข้อมูลในความรับผิดชอบส่วนตัวของ (กลุ่ม) ผู้นิพนธ์ ต้องเป็นไปตามความเป็นจริง

4. มีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อการทำให้ผลงานวิชาการของตนที่นำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารเป็นไปอย่างถูกต้องและสอดคล้องกับมาตรฐานทางจริยธรรมและคุณภาพทางวิชาการ ทั้งในเชิงจรรยาบรรณทางวิชาการและวิชาชีพ

5. มีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อข้อมูล ข้อคิดพบ และข้อคิดเห็นทางวิชาการใด ๆ ที่ปรากฏในวารสารที่ได้รับการเผยแพร่แล้ว เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้นิพนธ์ภายใต้บริบทจำกัดของบทความที่ได้รับการตีพิมพ์ของตนแต่เพียงผู้เดียว กองบรรณาธิการไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยต่อข้อคิดเห็นดังกล่าวเสมอไป