การแบ่งปันที่ดินของชุมชนริมทางรถไฟที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างรถไฟทางคู่ กรณีศึกษาชุมชนเทพรักษ์ 1 และ 5 ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทความนี้เป็นบทความวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการแบ่งปันที่ดินชุมชนริมทางรถไฟที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างรถไฟทางคู่ชุมทางจิระ-ขอนแก่น กรณีศึกษาชุมชนเทพารักษ์ 1 และ 5 ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกกับผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญ (Key-informants) จำนวน 24 ราย ประกอบด้วยผู้นำชุมชน สมาชิกชุมชนและเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยใช้แนวคิดพลเมืองเพื่อศึกษาความเป็นพลเมืองของสมาชิกชุมชนริมทางรถไฟและใช้แนวคิดการแบ่งปันที่ดินเพื่อศึกษากระบวนการแบ่งปันที่ดินของชุมชน
ผลการศึกษา พบว่า เกิดการรวมตัวกันของสมาชิกในชุมชนเป็นกลุ่มออมทรัพย์และขอเช่าที่ดินกับการรถไฟแห่งประเทศไทยในนามกลุ่มออมทรัพย์ แสดงถึงความเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้นที่ร่วมกันแก้ปัญหาของตนเอง จากการศึกษากระบวนการการแบ่งปันที่ดินของชุมชนแสดงให้เห็นว่าการที่ชุมชนมิได้มีกรรมสิทธิ์เป็นปัจเจกในที่ดิน ส่งผลให้ชุมชนเกิดกระบวนการคิดเรื่องการแบ่งปันที่ดินโดยมิได้มีข้อจำกัดถึงเรื่องมูลค่าของทรัพย์สิน โดยชุมชนให้ความสำคัญต่อการแบ่งปันที่ดินเพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย และการดำรงไว้ซึ่งวิถีชีวิตเดิมของสมาชิกในชุมชน ซึ่งชุมชนมีกระบวนการแบ่งปันที่ดินโดยแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่ (1) ขั้นตอนการจัดลำดับความเดือนร้อนเพื่อเป็นกติกาในการคัดเลือกผู้ที่มีความเดือดร้อนจากน้อยไปถึงมาก เพื่อให้เกิดความเที่ยงธรรมในการแบ่งปันที่ดิน (2) ขั้นตอนการสำรวจพื้นที่ว่างในชุมชนเพื่อให้สมาชิกที่ถูกไล่รื้อมีที่ปลูกสร้างที่อยู่อาศัยในชุมชนจนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในรูปแบบเดิม (3) ขั้นตอนการจัดสรรที่ดินโดยการจัดสรรที่ดินนั้นจะต้องสัมพันธ์กับการจัดลำดับความเดือดร้อนของครัวเรือน และ (4) ขั้นตอนการประชุมสรุปและชี้แจ้งให้ชาวบ้านรับรู้และเป็นพยานในการเปลี่ยนแปลงที่ดินร่วมกัน