ศึกษาการบำเพ็ญบารีและการบรรลุธรรมของพระนาลกเถระ

Main Article Content

ธีรพงษ์ มีไธสง
พระวิญญู ภูริปญฺโญ

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ในการศึกษา 3 ประการคือ 1) เพื่อศึกษาการบรรลุธรรมในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท 2) เพื่อศึกษาการบำเพ็ญบารมีในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท
3) เพื่อศึกษาการบำเพ็ญบารมีและการบรรลุธรรมของพระนาลก การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ผลการวิจัยพบว่า


การบรรลุธรรม หมายถึง การรู้แจ้งในสัจจะธรรม คือการตรัสรู้อริยสัจ 4 ได้เป็น
พระอริยบุคคลที่เข้าถึงมรรค ผล นิพพาน สามารถพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงได้ โดยการปฏิบัติตามองค์แห่งการตรัสรู้ธรรมในพระพุทธศาสนา เรียกว่าโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ การตรัสรู้ธรรมนั้นมีความแตกต่างกันไปตามบุญบารมีที่เคยได้สั่งสมมาตั้งแต่อดีต พระอริยบุคคลบางพวกบรรลุธรรมได้ด้วยการฟัง บางพวกบรรลุธรรมได้ด้วยการปฏิบัติตามหลักวิปัสสนาญาณ 9 หรือ 16


บารมีในพระพุทธศาสนาเถรวาท มีความหมาย 2 อย่าง คือ หมายถึงเป้าหมายของการปฏิบัติธรรม อีกความหมายหนึ่งคือ เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายสูงสุด นั่นคือการหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์  บารมีมี 10 ประการ แต่แบ่งเป็น 3 ระดับคือ บารมี อุปบารมี
และปรมัตถบารมี รวมเป็น 30 มี ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมะบารมี เป็นต้น และบารมีนี้ยังจำแนกเป็น 


1) โพธิสัตตบารมี คือ การบำเพ็ญบารมีเพื่อบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต
ซึ่งบารมีชนิดนี้ต้องบริบูรณ์ทั้งสามขั้นคือ บารมี อุปบารมีและปรมัตถบารมี จึงจะสำเร็จสมบูรณ์ได้ และ


2) สาวกบารมี คือการบำเพ็ญบารมีของพระสาวก ซึ่งได้ตั้งจิตอธิษฐานต่อหน้าพระพุทธเจ้าในอดีตองค์ใดองค์หนึ่งแล้วจึงบำเพ็ญเพียรมากระทั่งถึงปัจจุบันชาติ


พระนาลกะเถระ เป็นหลานชายของอสิตดาบส ออกบวชเป็นดาบส คอยติดตามข่าวการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าตามคำสั่งของอสิตดาบสผู้เป็นลุง จากนั้นจึงได้สั่งสมบุญบารมีรักษาอินทรีย์รอคอยพระผู้มีพระภาคเจ้า ต่อมาได้ทราบข่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระสัทธรรมอันประเสริฐแล้ว จึงได้ไปเฝ้าที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ในวันที่ 7 หลังจากที่ได้ทรงแสดงธรรมจักร ได้กราบทูลถามปฏิปทาอันประเสริฐของมุนีกับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วก็เกิดความเลื่อมใส
ได้กราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท ครั้นได้อุปสมบทแล้ว ก็เป็นผู้มีความมักน้อย 3 อย่าง คือ 1) มักน้อยในการเห็น 2) มักน้อยในการฟัง 3) มักน้อยในการถาม ท่านได้ปฏิบัติโมไนยปฏิปทาอย่างอุกฤษฏ์ จึงได้สำเร็จเป็นเป็นพระอรหันต์ ท่านมีชีวิตอยู่ได้เพียง 7 เดือนเท่านั้น ก็ดับขันธปรินิพาน เพราะว่าพระนาลกเถระปฏิบัติขั้นอุกฤษฏ์ และได้รับยกย่องในกลุ่มอสีติมหาสาวกให้เป็นผู้ทรง “อริยุตมคุณ” อันควรแก่การเคารพ สักการะบูชาเป็นอย่างยิ่ง

Article Details

บท
บทความวิชาการ

References

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539.
มหามกุฏราชวิทยาลัย. ธมฺมปทฏฺฐกถาย ฉฏฺโฐ. ภาโค. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2531.
พระธรรมกิติวงค์ (ทองดี สุรเตโช). ศัพท์วิเคราะห์.พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง,2550.