การบำเพ็ญบารมีและการบรรลุธรรมของพระองคุลิมาลเถระ
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทความนี้ มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ เพื่อศึกษาการบรรลุธรรมในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาการบำเพ็ญบารมีในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อศึกษาการบำเพ็ญบารมีและการบรรลุธรรมของพระองคุลิมาลเถระ โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาทและเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจากนั้นนำมาเรียบเรียง บรรยายเชิงพรรณนาจากการศึกษาพบว่า
การบรรลุธรรม คือการพัฒนาการทางปัญญา จนสามารถรู้แจ้งแห่ง อริยสัจ 4 โดยการปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา ในแนวทางมัชฌิมาปฏิปทา เจริญสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา หรือเจริญสติปัฏฐาน 4 คือ การกำหนดรู้ กาย เวทนา จิต และธรรม กำหนดรู้ในรูป นามขันธ์ 5 ให้เห็นเป็นไตรลักษณ์ตามความเป็นจริง วิปัสสนาญาณแก่กล้าดำเนินตามวิถีวิปัสสนา ผู้ปฏิบัติสามารถละสังโยชน์ และอนุสัยต่าง ๆ สามารถบรรลุ มรรค ผล นิพพาน สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา
การบำเพ็ญบารมี คือ การพัฒนาคุณธรรมอันเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง ตามที่บุคคลนั้นมุ่งหมาย บุคคลต้องการบรรลุผลอันใด ต้องบำเพ็ญบารมีอันเป็นเหตุให้บรรลุผลอันนั้น มีจุดมุ่งหมาย โดยเฉพาะมีความตั้งใจ อย่างมุ่งมั่น จริงจังที่จะให้ถึงจุดหมายสูงสุดที่ตนเองปรารถนา และการบำเพ็ญบารมีเป็นสิ่งส่งเสริมหรือคุณธรรมเป็นพื้นฐานเพื่อต่อยอดไปสู่การบรรลุคุณธรรมเบื้องสูง กล่าวคือ มรรค ผล และนิพพาน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง การบำเพ็ญบารมีธรรมจะช่วยสนับสนุนให้การพัฒนาคุณธรรมเบื้องสูงเต็มบริบูรณ์ ดังนั้น บุคคลผู้มีบารมีธรรมเต็มบริบูรณ์ ท่านจึงเรียกว่าผู้มีบุญและบารมีในการบรรลุธรรม
พระองคุลิมาล เป็นผู้สั่งสมอบรมบุญบารมีในพระพุทธศาสนาไว้ในอดีตชาติเป็นเวลานาน ได้พบพระปัจเจกพุทธเจ้าและโพธิสัตว์หลายชาติ มีโอกาสได้ฟังธรรมและสมาทานศีล ด้วยวิบากกรรมท่านได้ประสบกับชีวิตที่หักเหจากการที่เป็นคนดี ได้กลายเป็นมหาโจรฆ่าชีวิตมนุษย์กว่า 1,000 คน โดยปราศจากเจตนาที่จะฆ่า เพราะถูกหลอกจากอาจารย์และศิษย์ร่วมสำนัก แต่เพราะที่ได้พบพระบรมศาสดา ซึ่งเป็นยอดแห่งกัลยาณมิตร ที่ประทานเมตตาสั่งสอน แนะแนวทางจนในที่สุดได้ออกบวช มีอุปนิสัยที่มีความอดทนสูง ปลีกวิเวก ดำรงตนอยู่ด้วยความมีสติ ไม่ประมาท มีจริยาวัตรเคร่งครัด ปฏิบัติธุดงควัตร 4 ประการ จนท่านได้บรรลุธรรมขั้นสูง คือพระอรหันต์ จนเป็น คติเครื่องเตือนใจสอนใจให้คนที่เคยหลงผิด กระทำความผิดแล้ว
ก็สามารถกลับตัวเป็นคนดีได้ โดยมีพระพุทธศาสนาเป็นแกนหลัก ให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวที่สำคัญ
Article Details
เนื้อหาและข้อมูลในบทความที่ลงตีพิมพ์ในวารสาร มจร บาฬีศึกษาพุทธโฆสปริทรรศน์ถือเป็นข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรงซึ่งกองบรรณาธิการวารสาร ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ บทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร มจร บาฬีศึกษาพุทธโฆสปริทรรศน์ถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสาร มจร บาฬีศึกษาพุทธโฆสปริทรรศน์หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อหรือเพื่อกระทำการใด ๆ จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักอักษรจากวารสาร มจร บาฬีศึกษาพุทธโฆสปริทรรศน์ก่อนเท่านั้น
References
จำนง ทองประเสริฐ. ประวัติพระพุทธศาสนาในเอเชียอาคเนย์. พระนคร: มูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย, 2514.
จำเนียร ทรงฤกษ์. ชีวประวัติพุทธสาวก. ราชบุรี: สำนักพิมพ์ธรรมสภา, 2542.
พระครูปลัดสัมพิพัฒนธรรมาจารย์ .รายวิชา สติปัฏฐานภาวนา (Satipatthanabhavana). กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2556.(ถ่ายเอกสารเย็บเล่ม).
พระครูปลัดสัมพิพัฒนธรรมาจารย์. ศึกษาวิเคราะห์หลักปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา 7 เดือน ในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2555.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539.
มหามกุฏราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทยพร้อมอรรถกถา แปล ชุด 91 เล่ม. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2556.