กระบวนการเจริญอินทรีย์ ๕ ในโพธิปักขิยธรรมเพื่อการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

Main Article Content

แม่ชีศรินรัตน์ ชิตะธรรมสิทธิ์
พระมหาชิต ฐานชิโต
วิโรจน์ คุ้มครอง
พระเมธาวินัยรส (สุเทพ ปสิวิโก)

บทคัดย่อ

ดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาอินทรีย์ ๕ ในโพธิปักขิยธรรม ๒) เพื่อศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ๓) เพื่อเสนอกระบวนการเจริญอินทรีย์ ๕ ในโพธิปักขิยธรรมเพื่อการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพเน้นศึกษาเอกสารและสัมภาษณ์บุคคล


ผลการวิจัยพบว่า โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความตรัสรู้มี สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และมรรคมีองค์ ๘ ส่วนอินทรีย์ หมายถึง ความเป็นใหญ่ในหน้าที่ตน มี ๕ ประเภท คือ ๑) สัทธินทรีย์ คือ อินทรีย์ที่เป็นใหญ่ในความเชื่อ เป็นความเชื่ออันประกอบด้วยเหตุผล ๒) วิริยินทรีย์ คือ อินทรีย์ที่เป็นใหญ่ในความเพียร และในการอบรมจิตให้บริสุทธิ์จากกิเลส ๓) สตินทรีย์ คือ อินทรีย์ที่เป็นใหญ่ในการระลึกได้ เป็นผู้มีสติไม่หลงลืมพลั้งเผลอ ๔) สมาธินทรีย์ คือ อินทรีย์ที่เป็นใหญ่ในสมาธิ เป็นจิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งโดยเฉพาะ ๕) ปัญญินทรีย์ คือ อินทรีย์ที่เป็นใหญ่ในปัญญา สามารถรู้แจ้งแทงตลอดตามที่เป็นจริง ส่วนหลักการปรับอินทรีย์เสมอกันเป็นคู่ ๆ คือ ปรับศรัทธาให้เสมอกับปัญญา และปรับปัญญาให้เสมอกับศรัทธา ปรับวิริยะให้เสมอกับสมาธิ และปรับสมาธิให้เสมอกับวิริยะ ส่วนสตินั้นยิ่งมีมากเท่าไรยิ่งดี


การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานคือ การปฏิบัติอย่างต่อเนื่องในการฝึกอบรมเจริญปัญญา อันเป็นเครื่องทำลายกิเลส ให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง มีอารมณ์ของวิปัสสนาที่เรียกว่า วิปัสสนาภูมิ ๖ ประการ คือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ และปฏิจจสมุปบาท ส่วนการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ได้แก่ ๑) กายานุปัสนาสติปัฏฐาน คือ กำหนดรู้กาย ๒) เวทนานุปัสสนาสติปัฎฐาน คือ การกำหนดรู้เวทนา ๓ ๓) จิตตานุปัสสนาสติปัฎฐาน คือ การกำหนดรู้อาการของจิตที่มีธรรมชาติรับรู้อารมณ์ ๔) ธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐาน คือ มีสติเข้าไปกำหนดรู้สภาวธรรมเนืองๆ มีจุดมุ่งหมายเพื่อความหลุดพ้นจากกิเลส เป็นการฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้เท่าทันสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำด้วยกิเลส มีเป้าหมายสูงสุด คือ การบรรลุพระนิพพาน และเมื่อดับขันธ์แล้วไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏอีกต่อไป


กระบวนการเจริญอินทรีย์ ๕ ในโพธิปักขิยธรรมเพื่อการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน แบ่งออกเป็น ๑) กระบวนการเจริญสัทธินทรีย์ในโพธิปักขิยธรรมเพื่อการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในกาย เวทนา จิต และธรรม มีกระบวนการ ๓ ประการ คือ ๑. อาตาปี คือ มีความเพียรเผากิเลส ๒. มีสัมปชาโน คือ มีปัญญาหยั่งเห็น ๓. มีสติมาคือ มีสติอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ผู้ปฎิบัติธรรมเมื่อมีศรัทธาพึงพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรมตามความเป็นจริง ๒) กระบวนการเจริญวิริยินทรีย์ในโพธิปักขิยธรรมเพื่อการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ในกาย เวทนา จิต และในธรรม ผู้ปฏิบัติธรรมพึงมีความเพียรในการกำหนดรู้ในการเคลื่อนไหวกาย กำหนดรู้เวทนา  กำหนดรู้จิต และกำหนดรู้ธรรมตามความเป็นจริง ๓) กระบวนการเจริญสตินทรีย์ในโพธิปักขิยธรรมเพื่อการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ในกาย เวทนา จิต และธรรม ผู้ปฎิบัติธรรมต้องมีสติกำหนดรู้กาย กำหนดรู้เวทนา กำหนดรู้จิต และกำหนดรู้ธรรมตามความเป็นจริง ๔) กระบวนการเจริญสมาธินทรีย์ในโพธิปักขิยธรรมเพื่อการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในกาย เวทนา จิต และในธรรม ผู้ปฏิบัติธรรมพึงมีสมาธิในการกำหนดรู้ในการเคลื่อนไหวกาย กำหนดรู้เวทนา กำหนดรู้จิต และกำหนดรู้ธรรมตามความเป็นจริง ๕) กระบวนการเจริญปัญญินทรีย์ในโพธิปักขิยธรรมเพื่อการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในกาย เวทนา จิต และในธรรม ผู้ปฏิบัติธรรมพึงมีปัญญาในการกำหนดรู้ในการเคลื่อนไหวกาย กำหนดรู้เวทนา กำหนดรู้จิต และกำหนดรู้ธรรมตามความเป็นจริง เห็นความเป็นไตรลักษณ์ พลังแห่งอินทรีย์ทั้ง ๕ ที่เข้าไปกำหนดรู้อย่างนี้เป็นบาทฐานและเป็นการสั่งสมบารมีในการเจริญวิปัสสนาภาวนาต่อไป

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙

พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก าณสิทฺธิ ป.ธ. ๙). คู่มือสอบอารมณ์กรรมฐาน. พิมพ์ครั้งที่ ๕.

กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๕๐

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงขยายความ. พิมพ์ครั้งที่ ๑๑.

กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๕๒