การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ชุมชนชาวไทยภูเขาเผ่าลาหู่ กลุ่มเย็บผ้าแม่บ้านร่มเกล้าเจริญสุข ตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความเป็นมาของชุมชนชาวไทยภูเขาเผ่าลาหู่ บ้านร่มเกล้าเจริญสุข ตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก 2) พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ชุมชนชาวไทยภูเขาเผ่าลาหู่ กลุ่มเย็บผ้าแม่บ้านร่มเกล้าเจริญสุข ตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก 3) ประเมินความพึงพอใจและศึกษาผลกระทบที่มีต่อรูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ การศึกษาความเป็นมาของชุมชนชาวไทยภูเขาเผ่าลาหู่ดำเนินการโดย การสัมภาษณ์เชิงลึก และแบบสัมภาษณ์เป็นกลุ่ม โดยใช้วิธีเลือกแบบเฉพาะเจาะจง พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ร่วมกับสมาชิกกลุ่มเย็บผ้าแม่บ้านร่มเกล้าเจริญสุข ประเมินความพึงพอใจต่อรูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่จากสมาชิกกลุ่มเย็บผ้าแม่บ้านร่มเกล้าเจริญสุข จำนวน 10 คน สถิติที่ใช้คือ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และศึกษาผลกระทบที่เกิดกับชุมชนชาวไทยภูเขาเผ่าลาหู่ด้วยการสัมภาษณ์
ผลการวิจัย พบว่า ชาวลาหู่มีการย้ายถิ่นฐานมาจากจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อราวปี พ.ศ. 2520 และมาตั้งฐานถิ่นอาศัย ณ ที่ปัจจุบัน การจัดตั้งกลุ่มเย็บผ้าในปี พ.ศ. 2535 จากพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครั้งเมื่อเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรพื้นที่อำเภอพบพระ สมาชิกกลุ่มเย็บผ้าแม่บ้านร่มเกล้าเจริญสุขได้ร่วมกับผู้วิจัยพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ชุมชนชาวไทยภูเขาเผ่าลาหู่ โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์เสื้อคลุมลาหู่ได้มีลวดลายและสีสันตามเอกลักษณ์ของชาวลาหู่เอาไว้ แต่ให้มีความเป็นยุคสมัยมากยิ่งขึ้น อีกทั้งมีการพัฒนาองค์ความรู้และแนวทางการพัฒนาด้านการตลาดและการบัญชีด้วยการฝึกอบรมการออกแบบตราผลิตภัณฑ์ การวิเคราะห์ต้นทุนทางบัญชี และการส่งเสริม การขายผ่านช่องทางออนไลน์ ผลการประเมินความพึงพอใจ พบว่า กลุ่มเย็บผ้าแม่บ้านร่มเกล้าเจริญสุขมีความพึงพอใจในผลิตภัณฑ์ใหม่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.27 เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านหน้าที่ใช้สอยมี ความพึงพอใจมากที่สุดอยู่ในระดับดีมาก ค่าเฉลี่ย 5.00 รองลงมา ได้แก่ ด้านความสะดวกสบายในการใช้ ค่าเฉลี่ย 4.62 ด้านวัสดุ ค่าเฉลี่ย 4.39 ด้านความสวยงามน่าใช้ ค่าเฉลี่ย 4.25 ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ได้แก่ ด้านราคาและด้านกรรมวิธีการผลิต มีค่าเฉลี่ยเท่ากันที่ 3.43 ผลกระทบที่เกิดกับชุมชนชาวไทยภูเขาเผ่าลาหู่ พบว่า รูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่สามารถสร้างยอดขาย เพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มเย็บผ้าแม่บ้านร่มเกล้าเจริญสุขมากขึ้น มีช่องทางการจัดจำหน่ายมากขึ้น รวมถึงเกิดแนวคิดในการพัฒนาต่อยอดรูปแบบของผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แต่พบว่ามีผลกระทบในด้านความเด่นชัดในเอกลักษณ์ดั้งเดิมลดลง เนื่องจากมีการลดลวดลาย สีสัน และการใช้วัสดุสำเร็จรูปแทนการปักด้วยมือลงเพื่อลดต้นทุนให้สามารถตั้งราคาให้เหมาะกับบุคคลทั่วไปหรือนักท่องเที่ยวที่จะสามารถสวมใส่ได้
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
เนื้อหาและข้อมูลในบทความที่ลงตีพิมพ์ในวารสารพิกุล ถือเป็นข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรงซึ่งกองบรรณาธิการวารสาร ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ
บทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารพิกุล ถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารพิกุล หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อหรือเพื่อกระทำการใด ๆ จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักอักษรจากวารสารพิกุล ก่อนเท่านั้น
References
กองนโยบายและแผน, มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์. (2565). แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ.2560-2564. เข้าถึงเมื่อ ตุลาคม 1, 2565, จาก http://plan.bru.ac.th/แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ-ฉบับที่-12
กิตติพงษ์ เกียรติวิภาค. (2559, มิถุนายน). การศึกษาและพัฒนาการนำผ้าฝ้ายทอมือมาประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ กรณีศึกษา: กลุ่มหมู่บ้านผ้าฝ้ายทอมือบ้านดอนหลวง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน. วารสารศิลปกรรมสาร, 11(1), 13-51.
จุรีวรรณ จันพลาและคณะ. (2559, สิงหาคม). การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ผ้าทอไทยทรงดำเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์. Veridian E-Journal, Silpakorn University ฉบับภาษาไทย สาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ, 9(2), 82-98.
ธงพล พรหมสาขา ณ สกลนคร และอุทิศ สังขรัตน์. แนวทางการพัฒนาการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนในเขตลุ่มทะเลสาบสงขลา.Journal of Humanities and Social Sciences, 10(1), 97–122.
ภัคพล รื่นกลิ่น. (2565, สิงหาคม). การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือของชนเผ่าลีซูสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก. วารสารสหวิทยาการวิจัยและวิชาการ, 2(4), 315-328.
ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า. (2565). ภาพรวมคนจนในปี 2565 อำเภอพบพระ จังหวัดตาก. เข้าถึงเมื่อ ตุลาคม 1, 2565, จาก https://www.tpmap.in.th/2565/6307.
องค์การบริหารส่วนตำบลคีรีราษฎร์. (2565). สภาพทั่วไป ตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก. เข้าถึงเมื่อ ตุลาคม 1, 2565, จาก http://www.khirirat.go.th/page.php?id=3