มาตรฐานทางจริยธรรมของวารสาร มทร.อีสาน ฉบับมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

หน้าที่และความรับผิดชอบของบรรณาธิการ

บรรณาธิการวารสาร มทร.อีสาน จะต้องรับผิดชอบต่อทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบของตนสำหรับบทความที่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารฯ  กล่าวคือ :

  • ดำเนินการ และควบคุมดูแลความเรียบร้อยต่าง ๆ ให้ตรงตามความประสงค์ของผู้อ่าน ผู้ประเมินบทความ และผู้นิพนธ์
  • ปรับปรุงวารสารอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เกิดความทันสมัย และเกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม
  • คัดกรอง ตรวจสอบ และตัดสินใจในการรับรองคุณภาพของงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์
  • ให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทั้งจากผู้อ่าน ผู้นิพนธ์ และผู้ประเมินบทความ และผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ โดยคำนึงถึงมาตรฐานและข้อกำหนดของทางวารสารฯ เป็นสำคัญ
  • รักษามาตรฐานความถูกต้องของเนื้อหาบทความ และการดำเนินการใด ๆ ของทางวารสารเพื่อให้คงไว้ซึ่งผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพ
  • ปกป้องมาตรฐานทรัพย์สินทางปัญญาจากความต้องการทางธุรกิจ และตรวจสอบเพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นกับผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ
  • เต็มใจที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดอันเกิดจากการตีพิมพ์ การทำให้เกิดความชัดเจน การถอด-ถอนบทความ และการขออภัย หากจำเป็น

หน้าที่ของบรรณาธิการต่อผู้อ่าน

  • บรรณาธิการจะต้องแจ้งให้ผู้อ่าน ผู้ให้ทุนสนับสนุนงานวิจัย และคณะทำงาน ทราบเกี่ยวกับขอบเขต และวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานของทางวารสาร และอำนวยความสะดวกในการตอบข้อซักถาม การประสานงาน หรือการรับข้อร้องเรียนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของทางวารสารฯ

หน้าที่ของบรรณาธิการต่อผู้นิพนธ์

  • บรรณาธิการควรดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้มั่นใจในคุณภาพของบทความที่ตีพิมพ์ เพื่อรับรองคุณภาพของงานวิจัยที่ตีพิมพ์ และตระหนักว่าบทความแต่ละเรื่องที่ได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ลงในวารสารจักต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เป็นไปตามขอบเขตและข้อกำหนดของทางวารสาร โดยมีมาตรฐานคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน
  • การตัดสินใจของบรรณาธิการต่อการยอมรับหรือปฏิเสธบทความวิจัยเพื่อการตีพิมพ์ ควรขึ้นอยู่กับความสำคัญของปัญหา ความใหม่ของเนื้อหาและประเด็นในการวิจัย ความชัดเจนในการนำเสนอ ตลอดจนความเกี่ยวข้องกับขอบเขตของวารสาร
  • ควรมีการชี้แจงหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบประเมินบทความ (Peer review) นอกจากนี้บรรณาธิการควรมีความพร้อมในการชี้แจงความเบี่ยงเบนต่าง ๆ จากกระบวนการตรวจสอบที่ได้ระบุไว้
  • วารสารควรมีช่องทางให้ผู้นิพนธ์ตอบข้อซักถามในประเด็นต่าง ๆ ต่อผู้ประเมิน รวมถึงช่องทางที่ผู้นิพนธ์สามารถอุทธรณ์ได้ หากผู้นิพนธ์มีความคิดเห็นแตกต่างจากการตัดสินใจของบรรณาธิการ
  • บรรณาธิการควรจัดพิมพ์คำแนะนำแก่ผู้นิพนธ์ในทุกประเด็นที่เป็นข้อกำหนดของทางวารสารที่ผู้นิพนธ์ควรรับทราบเพื่อให้ผู้นิพนธ์สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้อง และควรมีการปรับปรุงคำแนะนำให้ทันสมัยอยู่เสมอ พร้อมทั้งควรมีการอ้างอิงหรือการเชื่อมโยงกับระเบียบดังกล่าวนี้ด้วย
  • บรรณาธิการไม่ควรเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจในการตอบรับบทความที่ถูกปฏิเสธการตีพิมพ์ไปแล้ว ยกเว้นมีปัญหาร้ายแรงเกิดขึ้นในระหว่างการส่งบทความ ซึ่งบรรณาธิการต้องสามารถชี้แจงถึงเหตุผลอันสมควรที่เป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการตัดสินดังกล่าวได้
  • ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ดำรงตำแหน่งบรรณาธิการ บรรณาธิการผู้ดำรงตำแหน่งคนใหม่จะต้องไม่กลับคำตัดสินใจในการตอบรับบทความที่ถูกตอบรับ หรือปฎิเสธการตีพิมพ์บทความที่บรรณาธิการคนก่อนได้ตัดสินไปแล้ว ยกเว้นมีการพิสูจน์ถึงปัญหาร้ายแรงที่เกิดขึ้น

หน้าที่ของบรรณาธิการต่อผู้ประเมินบทความ

  • บรรณาธิการควรจัดพิมพ์คำแนะนำแก่ผู้ประเมินบทความในทุกประเด็นที่บรรณาธิการคาดหวัง และควรมีการปรับปรุงคำแนะนำให้ทันสมัยอยู่เสมอ พร้อมทั้งควรมีการอ้างอิงหรือการเชื่อมโยงกับระเบียบดังกล่าวนี้ด้วย
  • บรรณาธิการควรมีระบบที่ปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ประเมินบทความ ยกเว้นวารสารนั้นมีการประเมินบทความแบบเปิดที่ได้แจ้งให้ผู้นิพนธ์และผู้ประเมินรับทราบล่วงหน้าแล้ว

กระบวนการพิจารณาประเมินบทความ

  • บรรณาธิการควรมีระบบที่ทำให้มั่นใจได้ว่าบทความที่ส่งเข้ามายังวารสาร จะได้รับการปกปิดเป็นความลับในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาประเมิน

สนับสนุนความถูกต้องทางวิชาการ

  • บรรณาธิการควรทำให้เกิดความมั่นใจว่ารายละเอียดทุกส่วนในบทความวิจัยที่มีการตีพิมพ์ในวารสาร ต้องเป็นไปตามหลักจริยธรรมสากลที่ได้รับการยอมรับ
  • บรรณาธิการควรหาหลักฐานเพื่อให้มั่นใจว่างานวิจัยทุกชิ้นที่จะตีพิมพ์นั้นได้รับการอนุมัติและเห็นชอบโดยคณะบุคคลที่มีอำนาจ (เช่น คณะกรรมการทางจริยธรรมด้านงานวิจัย คณะกรรมการพิจารณาบทความวิจัยของสถาบัน เป็นต้น) อย่างไรก็ตามบรรณาธิการควรระลึกไว้เสมอว่าการพิจารณาอนุมัตินั้นไม่ได้เป็นการรับประกันว่างานวิจัยนั้นถูกต้องตามหลักจริยธรรมเสมอไป

การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

  • บรรณาธิการควรปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลให้เป็นความลับ (เช่น ชื่อ-นามสกุล รูปภาพ และประวัติของคนไข้  เป็นต้น) หากมีความจำเป็นในการเปิดเผยข้อมูลในเนื้อหาบทความที่อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อผู้หนึ่งผู้ใด บรรณาธิการควรร้องขอหนังสือยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้เกี่ยวข้องโดยตรง อย่างไรก็ตามบรรณาธิการสามารถตีพิมพ์บทความได้โดยไม่ต้องมีเอกสารยินยอมหากบทความนั้นมีความสำคัญต่อสุขภาพของคนทั่วไป (หรือมีความสำคัญในบางเรื่อง) หรือมีความยากลำบากในการได้มาซึ่งเอกสารยินยอม และบุคคลผู้นั้นไม่คัดค้านต่อการตีพิมพ์เผยแพร่ (จักต้องมีการปฏิบัติตามเงื่อนไขสามประการดังกล่าว)

การรับรองความถูกต้องของผลงานทางวิชาการ

  • เมื่อมีการรับรู้ว่ามีความไม่ถูกต้องเกิดขึ้นกับบทความวิชาการที่ตีพิมพ์ไปแล้ว รวมถึงมีประโยคที่นำไปสู่ความเข้าใจผิด หรือเป็นรายงานที่บิดเบือนข้อเท็จจริง บรรณาธิการต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดความความถูกต้องในทันที
  • หากมีการตรวจสอบ และพบว่ามีการประพฤติทุจริตภายหลังจากการเผยแพร่บทความแล้ว บรรณาธิการสามารถดำเนินการเพิกถอนบทความนั้นได้ในทันที โดยมีการแจ้งให้ผู้อ่านทราบถึงเหตุผลและข้อเท็จจริงอย่างเปิดเผย

ความสัมพันธ์กับเจ้าของวารสารและสำนักพิมพ์

  • การดำเนินการของบรรณาธิการควรมีพื้นฐานอยู่บนความเป็นอิสระ การตัดสินใจและการดำเนินการต่าง ๆ ของวารสารไม่ควรใช้ความสัมพันธ์ของบรรณาธิการต่อสำนักพิมพ์และเจ้าของวารสารมาเป็นเหตุผลเกี่ยวข้อง แต่บรรณาธิจะต้องพิจารณาตัดสินใจเกี่ยวกับการรับบทความเพื่อตีพิมพ์โดยยึดถือคุณภาพ ความถูกต้อง และความเหมาะสมกับผู้อ่านมากกว่าเหตุผลอื่นใด

ผลประโยชน์ทับซ้อน

  • บรรณาธิการควรมีระบบในการจัดการเพื่อไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน (การขัดกันด้านผลประโยชน์) ของบรรณาธิการเองรวมทั้งของเจ้าหน้าที่วารสาร ผู้นิพนธ์ ผู้ประเมินบทความ สมาชิกกองบรรณาธิการ รวมถึงเจ้าของวารสารและสำนักพิมพ์

 ปรับปรุงจาก https://www.publicationethics.org/files/2008%20Code%20of%20Conduct.pdf