การพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศผ่านการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนบ้านป่าเหมี้ยง ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้ เป็นการวิจัยแบบมีส่วนร่วม ใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกและเสวนากลุ่มย่อยผู้มีส่วนได้เสีย จำนวน 40 คน มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อสำรวจเส้นทางการท่องเที่ยวบ้านป่าเหมี้ยง จังหวัดลำปางเชื่อมโยงบ้านแม่กำปอง จังหวัดเชียงใหม่ และ 2) เพื่อพัฒนาและทดสอบเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศบ้านป่าเหมี้ยง ผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้มีส่วนได้เสีย
ผลการวิจัยพบว่า ในการสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวระหว่างบ้านแม่กำปอง จังหวัดเชียงใหม่ไปยังบ้านป่าเหมี้ยง จังหวัดลำปางนั้น สภาพภูมิประเทศมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรป่าไม้ ลำน้ำและพืชพรรณนานาชนิด นักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมวิถีชีวิตชุมชน ผลิตภัณฑ์ ชิมชา กาแฟ เดินป่าศึกษาธรรมชาติ และขึ้นไปชมจุดชมวิวกิ่วฝิ่น ซึ่งเป็นยอดดอยสูง เป็นเขตติดต่อระหว่างจังหวัดเชียงใหม่กับจังหวัดลำปาง ซึ่งเลยจากบ้านแม่กำปองขึ้นไป 8 กิโลเมตร และลงไปยังบ้านป่าเหมี้ยงอีก 5 กิโลเมตร ถือเป็นเส้นทางท่องเที่ยวสองแผ่นดินที่น่าสนใจส่วนประเด็นการพัฒนาและทดสอบเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศบ้านป่าเหมี้ยง พบว่าชุมชนมีความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยว โดยได้ร่วมกันพัฒนาและทดสอบเส้นทางท่องเที่ยว 2 เส้นทาง คือ 1) เส้นทางท่องเที่ยวรอบหมู่บ้าน มีการเดินศึกษาธรรมชาติป่าเขาและสายน้ำรอบชุมชน สะพานรักดอกเสี้ยว จุดชมวิว เก็บชาอัสสัม และกิจกรรมสาธิตผลิตภัณฑ์ชุมชน และ 2) เส้นทางศึกษาธรรมชาติและน้ำตกตาดไผ่ ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 3 กิโลเมตร การเดินทางค่อนข้างยากลำบาก ต้องใช้รถชาวบ้านและผู้นำเที่ยวท้องถิ่นพาเยี่ยมชม ซึ่งน้ำตกตาดไผ่ อยู่ห่างจากลานจอดรถประมาณ 1 กิโลเมตร ต้องเดินผ่านป่าทึบและลอดซุ้มไม้ไผ่เป็นระยะ พอถึงน้ำตกตาดไผ่ ซึ่งมีอยู่ 3 ชั้น จะพบกับแอ่งน้ำใสกว้างกว่า 40 เมตร มีน้ำใสเย็นตลอดทั้งปี ถือเป็นเส้นทางใหม่ที่พร้อมพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวประจำชุมชนป่าเหมี้ยงต่อไป
Article Details
ลิขสิทธิ์
References
ชุติมันต์ สะสอง บุญฑวรรณ วิงวอน และสัญญา สะสอง. (2560). การพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรมผ่านการมีส่วนร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์จังหวัดแม่ฮ่องสอน. การประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 5, คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี. หน้า 11-21.
ดวงสมร ฟักสังข์. (2552). การสำรวจทุนทางสังคมและการจัดเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชุมชนในเขตเทศบาลตำบลศาลายา จังหวัดนครปฐม. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.
เทิดชาย ช่วยบำรุง. (2557). การท่องเที่ยวเชิงเกษตรสุราษฎร์ธานี การวิจัยฐานทรัพยากรการเกษตรสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน. วารสารพัฒนบริหารศาสตร์, 54(3), 202-220.
สินธุ์ สโรบล. (2551). ชุมชนท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน: ข้อเสนอเพื่อการปรับตัวของชุมชนดีเด่นด้านการท่องเที่ยวไทย. กรุงเทพมหานคร: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.
สุนิสา มามาก. (2554). รูปแบบการบริหารจัดการเพื่อสร้างศักยภาพโฮมสเตย์ กรณีศึกษา: บ้านอาลีโฮมสเตย์ อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์. กรุงเทพมหานคร: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2554). แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (2555-2559). กรุงเทพมหานคร: สำนักนายกรัฐมนตรี.
สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว. (2551). คู่มือการท่องเที่ยวโดยชุมชน. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.