จริยธรรมของผู้เขียนบทความ

1. ผู้เขียนบทความต้องไม่คัดลอกหรือหยิบยกเอาเนื้อหา (โดยไม่อ้างอิง) จากบทความอื่นมาเป็นส่วนหนึ่งของบทความที่ส่งมาขอรับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการวิทยาลัยบริหารศาสตร์ (ทั้งนี้วารสารฯ กำหนดความซ้ำซ้อนของผลงานไม่เกิน 20% จากการตรวจสอบด้วยโปรแกรม CopyCatch ของเว็บไซต์ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai Journal Citation Index Centre : TCI))

2. ผู้เขียนบทความต้องส่งบทความที่ไม่เคยตีพิมพ์หรืออยู่ระหว่างพิจารณาจากผู้ประเมินบทความ เพื่อตีพิมพ์ในวารสารอื่น

3. ผู้เขียนบทความที่มีรายชื่อปรากฏในบทความ จะต้องมีส่วนร่วมในการจัดทำบทความ หรือ มีส่วนร่วมในการทำวิจัย หากตรวจพบว่าผู้เขียนบทความหรือผู้หนึ่งผู้ใดในคณะผู้จัดทำบทความ ไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดทำบทความ วารสารฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการถอดถอนบทความดังกล่าวออกจากการเผยแพร่โดยทันที

4. ผู้เขียนบทความจะต้องจัดทำบทความที่มีองค์ประกอบหรือหัวข้อตามรูปแบบคู่มือการเตรียมต้นฉบับบทความ (ตามไฟล์แนบบนเว็บไซต์วารสารวิชาการ วิทยาลัยบริหารศาสตร์)

5. ผู้เขียนบทความ เมื่อมีการหยิบยกผลงานของผู้อื่นมาไว้ในบทความที่ส่งตีพิมพ์ จะต้องมีการอ้างอิงทั้งในส่วนเนื้อหาและในส่วนรายการเอกสารอ้างอิงที่ตรงกัน และมีรูปแบบที่ถูกต้องครบถ้วนตามที่กำหนดในคู่มือการเตรียมต้นฉบับบทความ ให้ผู้อ่านสามารถสืบค้นเพิ่มเติมแหล่งที่มาของข้อมูลได้ (หากมีการฟ้องร้องการละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากการไม่อ้างอิง จะเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความแต่เพียงผู้เดียว วารสารฯ จะไม่มีส่วนรับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น และจะดำเนินการถอดถอนบทความออกจากการเผยแพร่ของวารสารทันที)

6. ผู้เขียนบทความต้องตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารอ้างอิงทั้งแหล่งที่มาและความน่าเชื่อถือของเจ้าของบทความที่นำมาอ้างอิง รวมถึงไม่นำเอาเอกสารที่ถูกถอดถอนแล้วมาใช้อ้างอิง

7. ผู้เขียนบทความต้องปรับแก้บทความ ตามที่ผู้ประเมินบทความและบรรณาธิการแนะนำให้แล้วเสร็จ และส่งกลับมาภายในเวลาที่กำหนด หากไม่เป็นไปตามเวลาที่กำหนด วารสารฯจะเลื่อนการตีพิมพ์เผยแพร่ออกไป หรือ อาจถอดถอนออกจากวารสารฯ

8. ผู้เขียนบทความควรระบุชื่อแหล่งทุนที่สนับสนุนในการทำวิจัย (ถ้ามี) และควรระบุผลประโยชน์ทับซ้อน (ถ้ามี)

9. ผู้เขียนบทความต้องคำนึงถึงจริยธรรม ไม่รายงานข้อมูลเท็จ หรือ การปลอมแปลง บิดเบือน หรือ ตกแต่งข้อมูลให้ผิดจากผลการศึกษา หรือ วิจัยที่ได้เพื่อให้สอดคล้องกับข้อสรุป

10. ผู้เขียนบทความที่มีการนำข้อมูลส่วนตัว (Private Data) หรือข้อมูลที่เจ้าของไม่ประสงค์เปิดเผยต่อสาธารณะ มาใช้ประกอบในบทความ จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูลก่อนนำมาใช้ (หากมีการฟ้องร้องการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือนำข้อมูลมาเปิดเผยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูล จะถือเป็นความผิดของผู้เขียนบทความแต่เพียงผู้เดียว วารสารวิชาการ วิทยาลัยบริหารศาสตร์ จะไม่มีส่วนรับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น และจะดำเนินการถอดถอนบทความออกจากการเผยแพร่ของวารสารทันที)

11. ผู้เขียนบทความที่เขียนบทความเกี่ยวกับการวิจัยในมนุษย์หรือสัตว์ ควรมีหนังสือรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์หรือสัตว์แสดงต่อบรรณาธิการ

 

จริยธรรมของบรรณาธิการ

1. บรรณาธิการต้องจัดทำวารสารให้เป็นไปตามนโยบายและวัตถุประสงค์บทความของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai Journal Citation Index Centre :TCI) และของวารสารวิชาการวิทยาลัยบริหารศาสตร์

2. บรรณาธิการต้องพิจารณาคัดเลือกบทความอย่างเข้มข้น ตามระเบียบวิจัยที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ โดยมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อ่านอย่างแท้จริง

3. บรรณาธิการต้องตรวจสอบการคัดลอกบทความด้วยโปรแกรมที่น่าเชื่อถือและหากตรวจสอบพบว่าบทความที่ส่งมาตีพิมพ์ได้คัดลอกผลงานของผู้อื่น หรือมีสัดส่วนความซ้ำซ้อนเกินกว่าที่วารสารได้กำหนดไว้ จะต้องปฏิเสธการดำเนินการและถอดถอนบทความออกจากวารสารทันที

4. บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมใดๆ กับผู้เขียนบทความ และ/หรือ ผู้ประเมินบทความ

5. บรรณาธิการหรือกองบรรณาธิการต้องไม่นำบทความ หรือ ส่วนหนึ่งส่วนใดมาใช้เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง หรือ ผู้ที่ตนต้องการให้ได้รับผลประโยชน์ โดยปราศจากความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้เขียนบทความ

6. บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลระหว่างผู้เขียนบทความและผู้ประเมินบทความ ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแก่บุคคลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงเวลาของการประเมินบทความ โดยวารสารฯ ได้กำหนดให้มีการปกปิดรายชื่อ (Double blind Peer reviewed)

 

จริยธรรมของผู้ประเมินบทความ

1. ผู้ประเมินบทความควรพิจารณารับประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญ มีการพิจารณาบทความจากคุณภาพเนื้อหา ความชัดเจน ความเข้มข้น และไม่ใช้ความคิดเห็นส่วนตัวมาเป็นเกณฑ์ตัดสินบทความ

2. ผู้ประเมินบทความ เมื่อได้รับการเชิญจากบรรณาธิการให้เป็นผู้ประเมิน และเล็งเห็นว่าหากตนรับประเมินบทความ อาจเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียนบทความ การประเมินอาจไม่เป็นไปด้วยความสุจริตใจ ผู้ประเมินบทความควรแจ้งให้บรรณาธิการทราบและปฏิเสธการรับประเมินบทความดังกล่าว

3. ผู้ประเมินบทความต้องไม่เปิดเผยข้อมูลบทความที่ได้รับแก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงเวลาการประเมินบทความ

4. ผู้ประเมินบทความควรตระหนักเห็นใจ ถึงความจำเป็นในการได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่บทความของผู้เขียนบทความ เมื่อได้รับบทความแล้ว ควรดำเนินการประเมินโดยไม่ปล่อยเวลาให้เนิ่นนานเกินกำหนด

5. ผู้ประเมินบทความหากพบว่าบทความ หรือ ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความมีความซ้ำซ้อนกับบทความของผู้อื่น ผู้ประเมินบทความจะต้องแจ้งแก่บรรณาธิการให้ทราบ

6. ผู้ประเมินบทความต้องไม่นำบทความหรือส่วนหนึ่งส่วนใด มาใช้เพื่อผลประโยชน์ของตนเองหรือผู้ที่ตนต้องการให้ได้รับผลประโยชน์ โดยปราศจากความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้เขียนบทความ

7. ผู้ประเมินบทความควรคำนึงถึงคุณธรรมในวิชาชีพ ไม่ประเมินโดยมีอคติ ยึดหลักความถูกต้องเหมาะสม ตรงไปตรงมา เพื่อให้บทความมีมาตรฐานทางวิชาการ