รูปแบบการท่องเที่ยวสุขภาพเชิงสร้างสรรค์ บนฐานองค์ความรู้การแพทย์พื้นบ้าน และภูมิปัญญาท้องถิ่น ของชุมชนตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

Main Article Content

งามนิจ แสนนำพล
มณวิภา ยาเจริญ
จารุณี ศรีบุรี

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาศักยภาพและสถานการณ์ของแหล่งท่องเที่ยวสุขภาพเชิงสร้างสรรค์ของชุมชนตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ 2) เพื่อศึกษาองค์ความรู้การแพทย์พื้นบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่น 3) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวต่อการท่องเที่ยวสุขภาพเชิงสร้างสรรค์บนฐานองค์ความรู้การแพทย์พื้นบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่น 4) เพื่อสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวสุขภาพเชิงสร้างสรรค์บนฐานองค์ความรู้การแพทย์พื้นบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่น การวิจัยนี้ใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนา โดยใช้แบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้างเก็บข้อมูลจากผู้นำชุมชน ผู้ประกอบการธุรกิจและนักวิชาการ 15 คน แบบประเมินแหล่งท่องเที่ยวเก็บของมูลจากผู้เชี่ยวชาญ 6 คน ใช้แบบบันทึกการประชุมเก็บข้อมูลจากผู้นำชุมชน ผู้ประกอบการธุรกิจ ผู้บริหารแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ปราชญ์ท้องถิ่น และผู้รู้ด้านการแพทย์พื้นบ้าน 50 คน ใช้แบบประเมินโปรแกรมการท่องเที่ยวเก็บข้อมูลจากนักท่องเที่ยว 97 คน ใช้แบบบันทึกการประชุมเก็บข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบการธุรกิจ และผู้แทนจากแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน 10 คน


ผลการวิจัยพบว่า 1) แหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีศักยภาพมากที่สุด คือ น้ำพุร้อน   ดอยสะเก็ด 2) ชุมชนมีภูมิปัญญาด้านการแพทย์พื้นบ้านด้านการใช้ยาสมุนไพรพื้นบ้านด้านการนวดแผนไทย และการรักษาตามความเชื่อ สำหรับภูมิปัญญาด้านการดูแลสุขภาพ และอาหารพื้นบ้าน พบว่า ชาวบ้านนิยมปลูกและรับประทานผักสมุนไพรหลากหลายชนิด 3) จุดเด่นของโปรแกรมการท่องเที่ยวคือมีกิจกรรมการท่องเที่ยวสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ ด้วยการเรียนรู้การดูแลสุขภาพด้วยธาตุเจ้าเรือน เรียนรู้การแช่ไข่และการทำยำไข่ออนเซ็น การเรียนรู้วิถีไทลื้อผ่านการรับประทานอาหารท้องถิ่นและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ การทำพวงกุญแจลูกประคบสมุนไพร 4) รูปแบบการท่องเที่ยวสุขภาพเชิงสร้างสรรค์ ประกอบด้วยชุมชนมีฐานทรัพยากรการท่องเที่ยวในท้องถิ่น กระบวนการเตรียมความพร้อมของชุมชน กระบวนการพัฒนาการท่องเที่ยวสุขภาพเชิงสร้างสรรค์ ตามแนวคิด 1) การบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน 2) การดูแลสุขภาพตามลักษณะบุคคล 3) การออกแบบกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

นิพล เชื้อเมืองพาน, นิออน ศรีสมยง, ธนธร วชิรขจร, อรวรรณ บุญพัฒน์, และ วงศ์ระวิทย์ น้อมนำทรัพย์. (2563). ศักยภาพและขีดความสามารถในการรองรับได้ของแหล่งท่องเที่ยวน้ำพุร้อนกลุ่มท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา. วารสารศิลปกรรมบูรพา, 23(2), 167-187.

พรธิดา วิเชียรปัญญา. (2547). การจัดการความรู้ : พื้นฐานและการประยุกต์ใช้. กรุงเทพฯ: ธรรกมลการพิมพ์.

พิมพ์ระวี โรจน์รุ่งสัตย์. (2553). การท่องเที่ยวชุมชน. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.

วีระพล ทองมา. (2559). การท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based Tourism :CBT) สำหรับการพัฒนา คุณภาพชีวิตของชุมชนในเขตที่ดินป่าไม้. สืบค้นจาก https://www.dnp.go.th/fca16/file/i49xy4ghqzsh3j1.doc

มติชนออนไลน์. (2560). พัฒนาน้ำพุร้อนดอยสะเก็ดเป็นเมืองสปา หลังนักท่องเที่ยวยุโรบนิยมอาบน้ำแร่-แช่น้ำอุ่น. สืบค้นจาก https://www.matichon.co.th/news-onitor/news_776865

รชพร จันทร์สว่าง. (2546). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเอกสารชุดฝึกอบรม. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ราณี อิสิชัยกุล, รชพร จันทร์สว่าง, และ ปภาวดี มนตรีวัต. (2561). การพัฒนาสมรรถนะการจัดการอย่างมีส่วนร่วมแหล่งท่องเที่ยวพุน้ำร้อนกลุ่มท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา. วารสารวิทยาลัยดุสิตธานี, 12(3), 1-17.

สินธุ์ สโรบล. (2546). การท่องเที่ยวโดยชุมชนแนวคิดและประสบการณ์พื้นที่ภาคเหนือ (รายงานวิจัย). เชียงใหม่: วนิดาการพิมพ์.

โอภาส เอี่ยมศิริวงศ์. (2554). ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ. กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น.

Kaewchuay, S., & Kitcharoen, P. (2021). The Guideline of Wellness Tourism Development: A Case study of natural hot sprint and hot spring tour route, Chiangmai province. Multicultural Education, 7(12), 418-424.

Pollock, A., Williams, P., Gartner, W. C., & Lime, D. W. (2000). Health tourism trends: closing the gap between health care and tourism. Trends in outdoor recreation, leisure and tourism. Retrieved from https://doi.org/10.1079/9780851994031.0165

Shi, J., Shahidi, F., & Ho, C. T. (2019). Asian funtional foods. New York, NY: CRC Press.