ความรุนแรงเชิงโครงสร้างในการพัฒนาด้านการจัดสรรทรัพยากรทางทะเลบนอ่าวบ้านดอน หมู่บ้านคลองราง ตำบลลีเล็ด อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

Main Article Content

ปรพร เต็งเฉี้ยง

บทคัดย่อ

ในปัจจุบัน สังคมไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการพัฒนาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการพัฒนาอาจส่งผลต่อชุมชน งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ลักษณะของความรุนแรงเชิงโครงสร้างในการพัฒนาด้านการจัดสรรทรัพยากรทางทะเลบนอ่าวบ้านดอน ณ หมู่บ้านคลองราง ตำบลลีเล็ด อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่สร้างความไม่เท่าเทียมระหว่างชาวประมงพื้นบ้านและผู้ประกอบการ ตลอดจนแสวงหาแนวทางการพัฒนารูปแบบใหม่ที่สามารถแก้ปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้าง และสร้างความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรทางทะเลร่วมกัน โดยใช้แนวคิดทฤษฎีการพัฒนา สามเหลี่ยมความรุนแรง และกลุ่มผลประโยชน์ งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพที่เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกและการสังเกตการณ์  


ผลการศึกษาวิจัยพบว่า ลักษณะของความรุนแรงเชิงโครงสร้าง แบ่งเป็น 3 รูปแบบ 1) โครงการ Sea Food Bank ปี พ.ศ. 2547 2) มติประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2557 และ 3) การบังคับใช้กฎหมายและประสิทธิภาพในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ซึ่งทั้ง 3 รูปแบบ ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมในการใช้ทรัพยากรทางทะเลระหว่างชาวประมงพื้นบ้านและผู้ประกอบการ จนนำไปสู่ความขัดแย้งที่บานปลายไปสู่การใช้ความรุนแรง


ท่ามกลางความขัดแย้ง ได้เกิดกลุ่มผลประโยชน์อย่างชาวประมงพื้นบ้าน ผู้ประกอบการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) สุราษฎร์ธานี และสื่อ จุดสนใจของกลุ่มผลประโยชน์จะนำไปสู่การแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมาเป็นแม่แบบและตัวชี้วัด ทั้งสิ้น 6 เป้าหมาย จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 มีเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพมนุษย์และหน่วยงาน ลดปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงก่อน ระยะที่ 2 มีเป้าหมายเพื่อสร้างความยั่งยืนในการจัดสรรพื้นที่ในการใช้ทรัพยากร รวมถึงการดำเนินการร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

ทรรศวรรณ มูสิกะ. (2557). ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จากวรรณกรรมร่วมสมัยของนักเขียนภาคใต้ (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่.

นุชนาฎ สุขเอม. (2550). การแข่งขันทางเศรษฐกิจและการเมืองของกลุ่มผลประโยชน์ในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่. สืบค้นจาก https://cmudc.library.cmu.ac.th/frontend/Info/item/dc:108415

บงกชมาศ เอกเอี่ยม. (2564). แนวคิดหลังการพัฒนา: เส้นทางการพัฒนาในยุคหลังการพัฒนา. วารสารวิชาการวิทยาลัยบริหารศาสตร์, 4(1), 160-180.

วันลพ สุขผดุง. (2550). วิกฤตของการพัฒนากระแสหลักกับการพัฒนาชุมชนแบบยั่งยืน: กรณี ศึกษาชุมชนเทศบาลตำบลปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน (การค้นคว้าแบบอิสระ) มหาวิทยาลัย เชียงใหม่, เชียงใหม่. สืบค้นจาก https://cmudc.library.cmu.ac.th/frontend/info/item/dc:142590

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2564). เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน. สืบค้นจาก https://sdgs.nesdc.go.th/

อัฒฑชัย เอื้อหยิ่งศักดิ์. (2558). ความขัดแย้งระหว่างกรมประมงกับเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านกว๊านพะเยาในการทำประมงพื้นบ้านบริเวณกว๊านพะเยา (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่.

Galtung, J. (1969). Violence, Peace, and Peace Research. Journal of Peace Research, 6(3), 167-191.