การมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนในพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน กรณีศึกษา : พื้นที่ชุมชนบ้านเกาะล้าน เมืองพัทยา ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี

Main Article Content

ดวงทิพย์ พวงดอกไม้
ประพนธ์ สหพัฒนา

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับการมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะมูลฝอย ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะมูลฝอย และเสนอแนวทางและมาตรการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะมูลฝอยที่เหมาะสมในพื้นที่ชุมชนบ้านเกาะล้าน เมืองพัทยา ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เป็นการใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed research) ประกอบด้วย การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research) โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการจัดเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง คือ ประชาชนในพื้นที่ชุมชนบ้านเกาะล้าน จำนวน 357 คน ใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การแจกแจงความถี่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วม โดยใช้สถิติการวิเคราะห์สมการถดถอยเชิงพหุคูณ (Multiple Linear Regression) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) โดยใช้การจัดสนทนากลุ่มเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะมูลฝอยของชุมชน จำนวน 10 คน นำข้อมูลที่ได้มาทำการวิเคราะห์เนื้อหาของข้อมูล (Content Analysis)


ผลการวิจัย พบว่า ระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการจัดการขยะมูลฝอยพื้นที่ชุมชนบ้านเกาะล้านโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง (มีค่าเฉลี่ย 2.86) ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะมูลฝอย โดยใช้สมการถดถอยเชิงพหุคูณ (Multiple Linear Regression) เพื่อทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะมูลฝอย ได้แก่ ปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ ประกอบด้วย เพศ อายุ ระดับการศึกษา อาชีพ รายได้ต่อเดือน และระยะเวลาอาศัยในชุมชนบ้านเกาะล้าน รวมถึงปัจจัยด้านความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับขยะมูลฝอย ด้านเจตคติเกี่ยวกับการลดปริมาณขยะ และพฤติกรรมการลดปริมาณขยะ ส่งผลต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการลดปริมาณขยะมูลฝอย พบว่า มีตัวแปรจำนวน 5 ตัวแปร ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนบ้านเกาะล้าน ได้แก่ พฤติกรรมของประชาชน มากที่สุด (Beta = 0.661) รองลงมาคือ ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับขยะมูลฝอย (Beta = -0.316) ระดับการศึกษา (Beta = 0.194)  และเจตคติของประชาชน (Beta = -0.110) ตามลำดับอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 และตัวแปรอายุ (Beta = 0.132) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยสามารถร่วมกันทำนายการมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนบ้านเกาะล้าน เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ได้ร้อยละ 49.90 (R2 = 0.499)


ผลการเสนอแนวทางและมาตรการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะมูลฝอยที่เหมาะสมในพื้นที่ชุมชนบ้านเกาะล้าน เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1) ต้นทาง มาตรการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการดำเนินการลดปริมาณขยะมูลฝอยและมีการคัดแยกขยะมูลฝอย 2) กลางทาง มาตรการเพิ่มศักยภาพการเก็บขน การจัดทำระบบเก็บขยะและขนส่งขยะที่มีประสิทธิภาพให้สอดคล้องกับสถานการณ์ขยะในพื้นที่ 3) ปลายทาง มาตรการส่งเสริมการบริหารจัดการขยะมูลฝอยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กรมควบคุมมลพิษ กองจัดการกากของเสียและสารอันตราย. (2562). รายงานสถานการณ์ขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2561. สืบค้นจาก https://www.pcd.go.th/publication/3819

กรมควบคุมมลพิษ กองจัดการกากของเสียและสารอันตราย. (2561). รายงานสถานการณ์สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทย ปี พ.ศ.2561. สืบค้นจาก https://www.pcd.go.th/wp-content/uploads/2020/05/pcdnew-2020-05-15_08-55-58_264166.pdf

ซานิ มินน์. (2552). การพัฒนารูปแบบการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะของแข็งในท้องถิ่น เขตเทศบาลบากัน ประเทศพม่า (วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต). มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ขอนแก่น.

ธีรวัฒน์ ทองมา, และ เดธาวี ธีวรางกูล. (2561). ขยะ-น้ำดิบ ปัญหาใหญ่เกาะล้านที่ต้องเร่งหาทางแก้. สืบค้นจาก https://www.nationtv.tv/main/content/

นิชร คงเพชร. (ม.ป.ป.). คพ. ขอความร่วมมือประชาชนและนักท่องเที่ยว ลดปริมาณขยะในแหล่งท่องเที่ยวช่วงเทศกาลปีใหม่. สืบค้นจาก https://thaimsw.pcd.go.th/newsdetail.php?id=69

มงคล ชาวเรือ. (2525). ความคิดเห็นของประธานสภาตำบลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาต่องานโครงการสร้างงานในชนบท พ.ศ. 2524 (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ.

วิชัย โถสุวรรณจินดา. (2558). มาตรการทางกฎหมายในการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศไทย. วารสารการจัดการสิ่งแวดล้อม, 11(2), 76-89.

ศูนย์บริการสาธารณสุข 17 ประชานิเวศน์. (2563). แนวคิด 3RS รักษ์โลก. สืบค้นจาก https://webportal.bangkok.go.th/healthcenter17/page/sub/17417/สาระน่ารู้/1/info/180949/แนวคิด-3RS-รักษ์โลก

สมชาย เขียวอ่อน. (2554). การสร้างตัวแบบการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน : กรณีศึกษา ชุมชนท่าเตียน เขตพระนคร จังหวัดกรุงเทพมหานคร. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยศิลปากร, กรุงเทพฯ.

สมศักดิ์ วงศ์ศิริวิมล. (2550). การจัดการขยะมูลฝอยโดยการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการร้านค้าในชุมชนตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์, ฉะเชิงเทรา.

สยามรัฐออนไลน์. (2566). ปัญหาขยะตกค้าง 1 แสนตัน บนเกาะล้าน เมืองพัทยามั่นใจแก้ได้ภายใน 5 ปี. สืบค้นจาก https://siamrath.co.th/n/498738

สรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม. (2554). การวางแผนพัฒนาประเทศ. กรุงเทพฯ: ศูนย์การพิมพ์เพชรรุ่ง.

สุรศักดิ์ โอสถิตย์พร. (2550). รูปแบบการจัดการขยะมูลฝอยที่เหมาะสมกับเทศบาลตำบลดอยสะเก็ด อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่.

อนันต์ โพธิกุล. (2561). การบริหารจัดการขยะชุมชน ของเทศบาลเมืองแสนสุข อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี. วารสารวิชาการสถาบันวิทยาการจัดการแห่งแปซิฟิค, 4(1), 107-121.