ความเข้าใจเรื่องวัสดุ (Material Understanding)
บทคัดย่อ
ความเข้าใจเรื่องวัสดุ กรณีปูพื้นฐานให้นักศึกษาชั้นปีที่ 2 เพื่อเป็นทักษะพื้นฐานในการนำไปขยับขยายตลอดช่วงการศึกษาในสายวิชาสิ่งทอ และที่เกี่ยวเนื่อง การสร้างความเข้าใจเรื่องวัสดุ จำเป็นต้องทำความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมทางวัตถุ ความสำคัญของวัตถุรอบตัว เชื่อมโยงกับที่มา และความสำคัญของวัสดุของวัตถุว่ามีผลต่อวิถีชีวิต ชุมชนที่อาศัยอยู่ และสังคมอย่างไร โดยอาศัยการพิจารณาเชิงมานุษยวิทยา สังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดีศึกษา ฯลฯ เป็นองค์ประกอบ กรณีนี้ รายวิชามุ่งเน้นศึกษาและพัฒนาในกรอบของผู้สร้างสรรค์ โดยพิจารณาในประเด็นที่ว่า ‘everything is made from something’ หรือทุก ๆ สิ่งล้วนถูกสร้างมาจากบางสิ่ง ที่กล่าวโดยนักประวัติศาสตร์ Robert Friedel และสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะถูกสร้างขึ้นจากวัสดุใด ล้วนมีเหตุผลและที่มา ‘there are reasons for using particular materials in a thing’ (Friedel, 1993, pp. 41–50)
นอกจากนี้ สิ่งจำเป็นที่ผู้สร้างสรรค์จะคำนึงถึง คือ วงจรของวัสดุ การใช้ทรัพยากรว่ามีความเชื่อมโยงกับปัญหาและระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างไร การผลิตเป็นสิ่งที่คู่กับการเกิดขยะอันจะกลายเป็นตะกอนสะสม และมลภาวะในที่สุด ดังนั้นการเลือกสรรวัสดุต้องอาศัยทัศนคติควบคู่กับความรู้โดยมีพื้นฐานในการพิจารณาให้ความสำคัญตั้งแต่จุดเริ่มต้นของทรัพยากร ก่อนการเป็นวัสดุหรือเป็นวัตถุดิบเพื่อนำไปสร้างเป็นผลงาน แนวทางและเทคนิคในการผลิต การใช้แรงงาน หรือเทคโนโลยีที่เหมาะสม ตัวสินค้า หรือผลงาน ระหว่างการใช้งาน หรือการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของผู้บริโภค กระทั่งหลังการใช้งาน ภายหลังหมดอายุการใช้งานและหลังการทิ้ง ดังนั้น ผู้สร้างสรรค์คือผู้ที่สามารถเลือกกำหนดวัสดุ และเทคนิควิธี เพื่อตระหนักต่อ ผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพราะสิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นจะกลายเป็นสิ่งประดิษฐ์สร้างทางประวัติศาสตร์ (‘historical’ artifact) เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต และสังคม