การสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมชุด "บ้านขนบจีนในท้องถิ่นไทย : สัญลักษณ์ของความรักและความผูกพันที่บรรพชนมอบไว้

Uncestral Facrade

ผู้แต่ง

  • ทรงวุฒิ แก้ววิศิษฏ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

คำสำคัญ:

จิตรกรรม บ้าน ขนบจีน บรรพชน ชาวไทยเชื้อสายจีน

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

                  ความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างจีนกับไทย เป็นความสัมพันธ์ที่มีความพิเศษและมีความเป็นมาอย่างยาวนาน โดยเริ่มต้นมาจากการค้าขายแลกเปลี่ยน เป็นที่ชัดเจนตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา ซึ่งก่อนหน้านั้นก็ปรากฏหลักฐานการเข้ามาค้าขายและอยู่อาศัยแล้ว อย่างบันทึกในสมัยราชวงศ์ถัง ที่ระบุว่ามีชาวจีนอยู่อาศัยอยู่ปะปนกับชาวท้องถิ่นย่านเอเชียใต้ (ไทย) โดยเฉพาะสมัยอยุธยามีหลักฐานการสร้างอาคารที่อยู่อาศัยอย่างหนาแน่นทางใต้ของเกาะเมือง ต่อมาในช่วงของการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งใหญ่และสงครามในจีน จึงเป็นเหตุให้ชาวจีนอพยพหลบหนีออกนอกประเทศจำนวนมาก เนื่องจากความไม่มั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงความอดอยากจนแร้นแค้น ซึ่งชาวจีนที่เดินทางมาประเทศไทยส่วนมากจะมากจากมณฑลทางใต้ที่มีอาณาเขตติดทะเล และมีท่าเรือใหญ่ๆ อยู่หลายท่า เมื่อเดินทางมาสู่เมืองไทยก็มักจะมาพำนักกับญาติพี่น้องและหางานต่างๆ ทำเพื่อยังชีพ ต่อมาเมื่อมีรถไฟเกิดขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 5 ได้เดินทางต่อไปยังภูมิภาคต่างๆ เพื่อแสวงหาโอกาสด้านการประการค้าที่ดีขึ้น และมักจะเกาะกลุ่มอาศัยกันเป็นย่านสร้างอาคารร้านค้าลักษณะห้องแถวบริเวณริมทางรถไฟ โดยในระยะแรกมักจะสร้างเป็นอาคารแบบง่ายๆ จากนั้นเริ่มสร้างอาคารร้านค้าที่มีความมั่นคง ซึ่งรูปแบบที่พบเห็นมาจนถึงปัจจุบันนี้ในหลายท้องที่ เช่น อาคารชั้นเดียวแบบจีน อาคารไม้แบบจีน อาคารสองชั้นแบบจีนและแบบจีนผสมตะวันตก และมีการปรับประยุกต์ให้เข้ากับรูปแบบท้องถิ่น ทั้งการใช้วัสดุ การใช้รูปสัญลักษณ์ทางความเชื่อบางอย่างมาเป็นส่วนประกอบในอาคาร ซึ่งปัจจุบันอาคารร้านค้าเก่าหลายแห่งในหลายพื้นที่ได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟูให้กลับมาดังเดิม แต่ก็ยังพบอีกว่าอาคารในหลายแห่งหลายชุมชนยังคงตกอยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรม โดยไม่ได้รับการดูแลเหลียวแลจากทั้งผู้เป็นเจ้าของหรือหน่วยงานรัฐใดๆ ดังนั้นจากประเด็นดังกล่าวจึงเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญต่อการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมภายใต้ชื่อชุด “หน้าบ้าน บรรพชน หรือ Ancestral Facade” ที่มุ่งเน้นแสดงออกถึงความความรัก ความผูกพัน ความห่วงใยที่มีต่ออาคารร้านค้าเก่า โดยอาศัยรูปร่างรูปทรงจากอาคารมาเป็นสื่อหลัก แล้วผสมผสานการสร้างจังหวะในผลงานด้วยทัศนะธาตุทางศิลปะ ได้แก่ เส้น สี น้ำหนัก พื้นผิว ร่องรอย เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์และเป็นไปตามเป้าหมาย นอกจากนี้ยังทำให้ผลงานจิตรกรรมมีความเป็นเฉพาะที่สุดอีกด้วย

 

 

 

References

อ้างอิง
กมล จันทรสร. (2506). อิทธิพลชาวจีนโพ้นทะเล. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์รุ่งเรืองรัตน์.
ขจัดภัย บุรุษพัฒน์. (2515). “นโยบายผสมกลมกลืนของรัฐบาลไทยต่อชาวจีน”. กรุงเทพฯ : วารสารสังคมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
เจีย แยนจอง. (2539). “ไทยจีนเป็นพี่น้องกัน ตั้งแต่สุโขทัยสมัยโบราณกาลก่อนก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัยศึกษาในกรณีอิทธิพลจีนโบราณในวัฒนธรรมไทยเดิม” ในรอบ 20 ปี. ปัตตานี : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.
ณรงค์ พ่วงพิศ. (2525). “สายสัมพันธ์ระหว่างชาวจีนอพยพกับราชสำนักไทย” ใน คนจีน 200 ปี ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร. กรุงเทพฯ : สหมิตรการพิมพ์.
ดนัย นิลสกุล. (2546). “การอนุรักษ์ตึกดินในอีสานใต้”. กรุงเทพฯ : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ธาวัน อิ่มอุไร และคณะ. (2562). เส้นทางการอพยพและวิถีชีวิตของคนไทยเชื้อสายจีนในย่านเยาวราชและย่านปากน้ำโพ. กรุงเทพฯ : ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
พรพรรณ สันธนาคร. (2559). พัฒนาการรูปแบบเรือนแถวค้าขายพื้นถิ่นจีนในจังหวัดอุบลราชธานี. กรุงเทพฯ : สาขาวิชาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ภาควิชาสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ยุพเรศ มิลลิแกน. (2510). บทบาทของชาวจีนในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
วงศ์เดือน ภานุวัฒนากูล. (2552). อัตลักษณ์ของคนไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม.สงขลา : สาขาวิชาพัฒนามนุษย์และสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
ศุภการ สิริไพศาล. (2550).จีนหาดใหญ่ : ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสังคม. สงขลา : ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยทักษิณ.
สมบูรณ์ สุขสําราญ และคณะ. (2530). ชุมชนจีน : ความต่อเนื่องและการเปลี่ยนแปลง. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย. (2538). “จีน-ไทย’ ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร” กรุงเทพฯ : เอเชียปริทัศน์.
_________________. (2539). “ความสัมพันธ์ไทย-จีน ด้านสังคมและวัฒนธรรม, ใน ความสัมพันธ์ไทย-จีน: 20 ปี แห่งมิตรภาพ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-06-25

ฉบับ

บท

บทความทางวิชาการ