จริยธรรมการตีพิมพ์

จริยธรรมในการเผยแพร่ผลงานวิชาการในวารสารวิชาการการตลาดและการจัดการ

โครงการปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้จัดทำวารสารวิชาการการตลาดและการจัดการฉบับนี้ขึ้น เพื่อเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ ได้แก่ บทความวิจัย บทความวิชาการ บทวิจารณ์หนังสือ ตลอดจนข้อค้นพบใหม่ๆ ระหว่างนักวิจัย และสังคมภายนอก ดังนั้นเพื่อให้การสื่อสารทางวิชาการเป็นไปอย่างถูกต้อง มีคุณภาพ โปร่งใส และสอดคล้องกับมาตรฐานการตีพิมพ์นานาชาติ กองบรรณาธิการได้กำหนดจริยธรรมในการเผยแพร่ผลงานวิชาการดังนี้

จริยธรรม บทบาท และหน้าที่ของผู้นิพนธ์ ( Ethics and Duties of Authors)

  1. ผู้นิพนธ์ต้องรับรองว่าผลงานวิชาการที่นำมาเผยแพร่ในวารสารวิชาการการตลาดและการจัดการนั้น เป็นผลงานใหม่และไม่เคยเผยแพร่กับที่ใดมาก่อน
  2. สำหรับบทความวิชาการ ผู้นิพนธ์จะต้องรายงานข้อเท็จจริงที่ค้นพบหรือสรุปได้จากการทำวิจัย
    ไม่มีการบิดเบือนข้อมูล หรือให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ
  3. สำหรับบทความวิชาการ ผู้นิพนธ์ต้องสร้างสรรค์ขึ้นจากองค์ความรู้ที่ได้จากการสังเคราะห์ด้วยตัวเอง โดยไม่คัดลอกส่วนใดส่วนหนึ่งของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
  4. หากมีการนำผลงานส่วนในส่วนหนึ่งของผู้อื่นในผลงานของตัวเอง ผู้นิพนธ์ต้องอ้างอิงผลงานของ
    ผู้นั้นตามหลักการอ้างอิงทางวิชาการ รวมทั้งจัดทำรายการอ้างอิงท้ายบทความตามที่วารสารฯ กำหนด
  5. ผู้นิพนธ์ต้องเขียนบทความวิจัย หรือบทความวิชาการตามรูปแบบที่วารสารฯ กำหนดไว้ใน “ข้อกำหนดในการตีพิมพ์” และ “รูปแบบการตีพิมพ์และหลักเกณฑ์การอ้างอิงเนื้อหา”
  6. ผู้นิพนธ์ที่มีชื่อปรากฏในบทความ จะต้องเป็นผู้ที่มีส่วนในการดำเนินการจริง
  7. หากมีแหล่งทุนที่ให้การสนับสนุนในการทำวิจัย ผู้นิพนธ์ต้องระบุรายละเอียดให้ครบถ้วน
  8. หากมีผลประโยชน์ทับซ้อน ผู้นิพนธ์ต้องระบุให้ชัดเจน

จริยธรรม บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการ (Ethics and Duties of Editors)

  1. บรรณาธิการวารสารมีหน้าที่พิจารณาคุณภาพของบทความวิจัย และบทความวิชาการ ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร
  2. บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลใด ๆ ของผู้นิพนธ์และผู้ประเมินบทความ แก่บุคคลอื่น ที่ไม่เกี่ยวข้อง ในระหว่างช่วงเวลาของการประเมินบทความ
  3. บรรณาธิการต้องตัดสินใจคัดเลือกบทความเพื่อเผยแพร่ในวารสาร ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการของการประเมินบทความ โดยพิจารณาจากความทันสมัย ความใหม่ ความชัดเจน และความถูกต้อง ชัดเจน และความสอดคล้องกับนโยบายและวัตถุประสงค์ของวารสาร
  4. บรรณาธิการต้องไม่ตีพิมพ์เผยแพร่บทความหรือผลงานทางวิชาการอื่นใดที่เคยตีพิมพ์หรือเผยแพร่
    ที่อื่นมาก่อน
  5. บรรณาธิการต้องไม่ปฏิเสธการตีพิมพ์เผยแพร่บทความเพียงเพราะความสงสัยหรือไม่แน่ใจ แต่ต้องให้ผู้นิพนธ์หาหลักฐานเพื่อพิสูจน์ข้อสงสัยนั้น ๆ เสียก่อน
  6. บรรณาธิการจะต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์ ผู้ประเมินคุณภาพบทความ และคณะผู้บริหาร ทั้งภายในและภายนอกองค์กร
  7. บรรณาธิการต้องตรวจสอบการคัดลอกผลงานผู้อื่น (Plagiarism) ของบทความที่ต้องการตีพิมพ์เผยแพร่อย่างจริงจัง ด้วยโปรแกรมหรือวิธีการอื่น ๆ ที่เชื่อได้ เพื่อให้แน่ใจว่าบทความที่จะตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารนั้น ไม่มีการคัดลอกผลงานของผู้อื่น
  8. หากบรรณาธิการหรือผู้ประเมินบทความตรวจพบการคัดลอกผลงานของผู้อื่น ระหว่างการประเมินบทความ บรรณาธิการต้องหยุดกระบวนการประเมินบทความและติดต่อผู้นิพนธ์หลัก เพื่อขอคำชี้แจงทันที และตัดสินใจ “ตอบรับ” หรือ ปฎิเสธ” การตีพิมพ์บทความนั้น ๆ

จริยธรรม บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ (Ethics and Duties of Reviewers)

  1. ผู้ประเมินบทความต้องเก็บรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความที่ส่งมาเพื่อพิจารณาทั้งหมดหรือบางส่วนแก่บุคคลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง ตลอดช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ (Confidentiality)
  2. หากผู้ประเมินบทความตระหนักว่า ตนเองอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์ หลังจากได้รับบทความจากบรรณาธิการวารสารแล้ว เช่น เป็นผู้ร่วมโครงการ หรือรู้จักผู้นิพนธ์เป็นการส่วนตัว หรือเหตุผลอื่นใด ที่ทำให้ไม่สามารถให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างอิสระได้ ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบและปฏิเสธการประเมินบทความนั้น ๆ ทันที
  3. ผู้ประเมินบทความควรรับและประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนมีความรู้ ความชำนาญ หรือมีความเชี่ยวชาญ โดยพิจารณาความสำคัญของเนื้อหา คุณภาพของการวิเคราะห์ ความถูกต้อง ครบถ้วน และความเข้มข้นของผลงานนั้น ไม่ควรใช้อคติส่วนตัวที่ปราศจากข้อมูลรับรองในการตัดสินบทความต่าง ๆ
  4. ในบางกรณีผู้ประเมินบทความอาจจะระบุผลงานวิจัยหรือเอกสารสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับบทความที่กำลังประเมิน แต่ผู้นิพนธ์ไม่ได้อ้างอิงหรือกล่าวถึงไว้แก่ผู้นิพนธ์ ในการประเมินบทความด้วย นอกจากนี้หากพบว่ามีส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความ มีความเหมือนหรือซ้ำซ้อนกับผลงานชิ้นอื่น ๆ ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบโดยเร็ว