พัฒนาการทางอาชีพของคนไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ผู้แต่ง

  • ชญานิษฐ์ อ่อนละมูล สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
  • บัญญัติ ยงย่วน สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
  • วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
  • ฐิติมดี อาพัทธนานนท์ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

คำสำคัญ:

พัฒนาการทางอาชีพ, คนไร้บ้าน

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนาการทางอาชีพของคนไร้บ้าน โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ศึกษาจากคนไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่เข้ารับบริการในศูนย์คัดกรองและช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส (บ้านอิ่มใจ) สังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้งเพศหญิงและชาย ทั้งที่อยู่ในช่วงมีงานทำและอยู่ในช่วงว่างงาน ที่มีอายุระหว่าง 18 - 60 ปี จำนวน 16 ราย ผลการศึกษาพบว่า พัฒนาการทางอาชีพของคนไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีความแตกต่างจากทฤษฎีพัฒนาการทางอาชีพ ของซุปเปอร์ (Super’s Theory of Vocational Development)  ตั้งแต่ในระยะขั้นการเจริญเติบโต (Growth Stage) ได้เข้าสู่โลกของการทำงานโดยไม่ได้มีโอกาสสำรวจอัตมโนทัศน์ (Self - Concept) หรือเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่โลกของการทำงานอย่างละเอียดถี่ถ้วน และพบความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดในระยะขั้นการรักษาความมั่นคงในอาชีพ (Maintenance Stage) ที่ถึงแม้จะเข้าสู่โลกของการทำงานตั้งแต่ในระยะขั้นการเจริญเติบโต
แต่ก็ยังไม่พบกับความมั่นคงในอาชีพ เนื่องจากคนไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพมหานครมักประสบภาวะวิกฤติชีวิตในช่วงวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ ขาดระบบกลไกทางสังคมที่ช่วยสนับสนุนให้บุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงรับมือหรือจัดการกับวิกฤติที่เกิดขึ้นในชีวิต ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ต่างๆ ตามวัยได้อย่างเหมาะสม และตกอยู่ในสภาวะไร้บ้าน จึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องพัฒนารูปแบบการช่วยเหลือให้คนไร้บ้านรวมถึงกลุ่มเสี่ยงให้มีพัฒนาการทางอาชีพที่เหมาะสม ทั้งในเชิงป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟู เฝ้าระวัง และ พัฒนาศักยภาพ 

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-08-08