จาก “อุตรกุรุทวีป” ในไตรภูมิพระร่วงสู่นวนิยาย ลูกไม้ลายสนธยา ของพงศกร: กลวิธีการสร้างและนัยยะต่อเรื่อง

ผู้แต่ง

  • ศรัณย์ภัทร์ บุญฮก สาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

บทคัดย่อ

บทความนี้มุ่งศึกษากลวิธีการนำอุตรกุรุทวีปจากไตรภูมิพระร่วงมาสร้างนวนิยายเรื่องลูกไม้ลายสนธยา ซึ่งเป็นนวนิยายแนวลึกลับเหนือธรรมชาติของพงศกร พร้อมกับวิเคราะห์นัยยะสำคัญของการนำอุตรกุรุทวีปมาใช้ในนวนิยายเรื่องนี้ ผลการศึกษาพบว่า พงศกรนำเอารายละเอียดเกี่ยวกับอุตรกุรุทวีปจากไตรภูมิพระร่วงมาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างนวนิยายให้มีการข้ามมิติระหว่างโลกปัจจุบันกับดินแดนดังกล่าว โดยมีความขัดแย้งควบคู่กับโครงเรื่องแบบสืบสวนสอบสวน การสร้างตัวละครเอกฝ่ายชายซึ่งมาจากอุตรกุรุทวีป และสร้างฉากพื้นที่ทับซ้อนให้ตัวละครจากสองโลกได้มาบรรจบกัน ทั้งหมดเพื่อเทียบเคียงถึงระดับศีลธรรมที่ต่างกันของสองทวีปเพื่อนำไปแนวคิดหลัก คือ กิเลสเป็นเหตุแห่งปัญหาเพื่อให้มนุษย์ในชมพูทวีปได้ละวางกิเลส พร้อมกันนี้การนำอุตรกุรุทวีปยังมีนัยยะที่สำคัญต่อเรื่อง คือ เกิดภาวะความเป็นอื่นระหว่างตัวละครสองโลก ความเป็นอื่นเกิดขึ้นจากการเน้นย้ำถึงความแตกต่างด้านศีลธรรมระหว่างมนุษย์ในชมพูทวีปและอุตรกุรุทวีปแบบคู่ตรงข้าม ก่อนที่นวนิยายจบลงด้วยความสมปรารถนาของตัวละครทั้งสองทวีปที่ได้มาอยู่ด้วยกัน แต่เป็นการอยู่ด้วยกันที่มีระยะห่างระหว่างพื้นที่และเวลา เพื่อย้ำว่าความรักของตัวละครทั้งคู่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นไปสู่การอยู่ด้วยกันอย่างแท้จริงคือการไปอยู่ด้วยกันในอุตรกุรุทวีป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-08-08