โครงสร้างความรู้งานวิจัยเพื่อการพัฒนา กับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการและการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้
คำสำคัญ:
โครงสร้างความรู้, งานวิจัยเพื่อการพัฒนาภาคใต้, ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ, การพัฒนากลุ่มจังหวัดบทคัดย่อ
บทความวิจัยนี้ผู้วิจัยได้นำเสนอผลจากการสังเคราะห์ข้อมูล และจัดโครงสร้างความรู้งานวิจัยเพื่อการพัฒนาภาคใต้ ในช่วงระยะเวลา 10 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ ตั้งแต่ เดือนมกราคม พ.ศ.2551 – เดือนธันวาคม พ.ศ.2560 ที่ทำการเผยแพร่และปรากฏในระบบคลังข้อมูลงานวิจัยไทย (TNRR) และเครือข่ายห้องสมุดประเทศไทย (ThaiLIS) จำนวน 78 หน่วยงาน เพื่อศึกษาความสอดคล้องระหว่างงานวิจัย กับยุทธศาสตร์การพัฒนา และแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มจังหวัดภาคใต้ 3 กลุ่ม ตามแผนระยะ 4 ปี ในช่วงพุทธศักราช 2561-2564 โดยผู้วิจัยได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์เพื่อให้เห็นถึงโครงสร้างภาพรวมของความรู้งานวิจัย ประเด็นและทิศทางการวิจัย และแนวทางการบริหารจัดการ และแนวทางการแก้ไขที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการและการพัฒนากลุ่มจังหวัดอย่างชัดเจนในแต่ละด้าน สามารถนำไปสู่การต่อยอดงานวิจัย และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม โดยการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysts) และดำเนินตามหลักการจัดระบบความรู้ (Knowledge Organization) โดยเลือกใช้แนวทางกระบวนการจัดหมวดหมู่ (Classification Approach) ผลจากการศึกษา พบว่า โครงสร้างความรู้ (Knowledge structure) ประกอบด้วย 2 ชุดความรู้ (Domain) 9 หมวดใหญ่ (Classes) 57 แนวคิดหลัก (Concept) และ 207 แนวคิดย่อย (Sub-concept) 1) ชุดความรู้ (Domain) จำนวน 2 ชุด ได้แก่ ชุดความรู้ประเด็นวิจัย (Research aspects domain) และชุดความรู้งานวิจัย (Research work domain) 1.1) ชุดความรู้ประเด็นวิจัย (Research aspects domain) หมายถึง ชุดความรู้ที่เกี่ยวกับเนื้อหาสาระของยุทธศาสตร์การบริหารจัดการและการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย 6 หมวดใหญ่ (Classes) ภายใต้หมวดใหญ่ ประกอบด้วย 31 แนวคิดหลัก (Concept) และภายใต้แนวคิดหลัก ประกอบด้วย 95 แนวคิดย่อย (Sub-concept) 1.2) ชุดความรู้งานวิจัย (Research work domain) หมายถึง ชุดความรู้ที่เกี่ยวกับขอบเขตเนื้อหาของข้อมูลงานวิจัยเพื่อการพัฒนาภาคใต้ ประกอบด้วย 3 หมวดใหญ่ (Classes) ได้แก่ 1) เอกสารงานวิจัย 2) ข้อมูลพื้นฐาน 3) ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ภายใต้หมวดใหญ่ ประกอบด้วย 26 แนวคิดหลัก (Concept) และภายใต้แนวคิดหลัก ประกอบด้วย 112 แนวคิดย่อย (Sub-concept)