สัมพันธภาพในครอบครัว ความฉลาดทางจริยธรรม การเผชิญความเครียด และความผาสุกทางใจ ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี
คำสำคัญ:
สัมพันธภาพในครอบครัว, ความฉลาดทางจริยธรรม, การเผชิญความเครียด, ความผาสุกทางใจบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาระดับสัมพันธภาพในครอบครัว ระดับความฉลาดทางจริยธรรม ระดับการเผชิญความเครียด และระดับความผาสุกทางใจของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 2) เปรียบเทียบความผาสุกทางใจของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคลที่แตกต่างกัน 3) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสัมพันธภาพในครอบครัวกับความผาสุกทางใจของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 4) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความฉลาดทางจริยธรรมกับความผาสุกทางใจของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และ 5) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเผชิญความเครียดและความผาสุกทางใจของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 363 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม ผลการวิจัยพบว่า 1) สัมพันธภาพในครอบครัว ความฉลาดทางจริยธรรม การเผชิญความเครียด และความผาสุกทางใจ ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายอยู่ในระดับระดับค่อนข้างสูง 2) นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ การศึกษาของบิดาที่แตกต่างกัน มีความผาสุกทางใจแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 ส่วนนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีปัจจัยส่วนบุคคลได้แก่ เพศ ระดับชั้นการศึกษา แผนการเรียน เกรดเฉลี่ยสะสม ระยะเวลาที่ศึกษาในโรงเรียน ลำดับการเกิด การศึกษาของมารดา อาชีพของบิดา อาชีพของมารดา และรายได้ของครอบครัวแตกต่างกัน มีความผาสุกทางใจไม่แตกต่างกัน 3) สัมพันธภาพในครอบครัวมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความผาสุกทางใจของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 4) ความฉลาดทางจริยธรรมมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความผาสุกทางใจของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และ 5) การเผชิญความเครียดมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความผาสุกทางใจของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01