ปัจจัยทางจิตสังคมที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพในผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์

ผู้แต่ง

  • โกวิทย์ พยัฆวิเชียร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

คำสำคัญ:

พฤติกรรมการดูแลสุขภาพ, โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจและหลอดเลือด

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มุ่งศึกษาความสัมพันธ์ และเพื่อแสวงหาตัวทำนายที่สำคัญของลักษณะสถานการณ์ และจิตลักษณะที่เกี่ยวข้องกับทัศนคติต่อพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ และพฤติกรรมการดูแลสุขภาพในผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง โดยกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาคือ ผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์จำนวน 400 คน จากการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นกำหนดโควตา เก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามที่ผ่านการทดสอบความตรงเชิงเนื้อหา การวิเคราะห์หาค่าอำนาจจำแนกรายข้อ และค่าความเชื่อมั่น จากนั้นวิเคราะห์ด้วยสถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์และแบบถดถอยพหุคูณ ผลการวิจัยพบว่า ทัศนคติต่อพฤติกรรมการดูแลสุขภาพมีความสัมพันธ์ทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทาง สถิติกับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ (ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เท่ากับ .626, p<.01) การรับรู้สภาพที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค และการสนับสนุนด้านการดูแลสุขภาพจากครอบครัวมีความสัมพันธ์ทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ (ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เท่ากับ .452, p<.01 และ .431, p<.01) ความเชื่ออำนาจในตน สุขภาพจิตดี และลักษณะมุ่งอนาคตควบคุมตน มีความสัมพันธ์ทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ (ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เท่ากับ .350, p<.01 .267, p<.01 และ.163, p<.01) ผลการวิเคราะห์ถดถอยแบบพหุคูณที่ใช้ตัวแปรลักษณะสถานการณ์ จิตลักษณะเดิม และจิตลักษณะตามสถานการณ์ เป็นตัวทำนาย สามารถทำนายในกลุ่มรวมได้ร้อยละ 31.8 โดยมีลำดับตัวทำนายที่สำคัญ ได้แก่ ทัศนคติต่อพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ การรับรู้สภาพที่เสี่ยงในโรค และความเชื่ออำนาจในตน มีค่าเบต้าเท่ากับ .46 .24 และ .16 ตามลำดับ ผลการวิจัยนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ส่งเสริมพฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม และต่อยอดพื้นฐานการวิจัยพฤติกรรมการดูแลสุขภาพในผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต

 

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-12-29