วัฒนธรรมทางการเมืองหลักกับการพัฒนาประชาธิปไตยของคนชนบทอีสานในวันนี้

ผู้แต่ง

  • วรัญญา ศรีริน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • พรอัมรินทร์ พรหมเกิด คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • จักรพันธ์ ขัดชุ่มแสง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

คำสำคัญ:

วัฒนธรรมทางการเมือง, วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย, วัฒนธรรมทางการเมืองหลัก, สังคมวิทยา การเมือง

บทคัดย่อ

บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการวิเคราะห์วัฒนธรรมทางการเมืองหลักของหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่งในอีสานเหนือ อันเป็นการศึกษาถึงแบบแผนของความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และพฤติกรรมของชาวบ้านที่ปรากฏอยู่อย่างเด่นชัดเป็นด้านหลักมานานซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบการเมือง การศึกษานี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ รวบรวมข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้รู้ในชุมชน ผู้นำชาวบ้าน นักวิชาการและปัญญาชน นักการเมือง จำนวน 22 คน ด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกและการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม ผลการวิจัยพบว่า วัฒนธรรมทางการเมืองหลักของหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่งในอีสานเหนือสามารถจำแนกออกได้เป็นสองรูปแบบคือ 1) ด้านความโน้มเอียงที่เกี่ยวข้องกับความคิด ความเชื่อ และค่านิยมของกลุ่มคนที่มีต่อระบบการเมือง มีลักษณะดังนี้ ความเชื่อว่าการเมืองคือการเลือกตั้ง การเมืองคือการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกัน ค่านิยมการเชื่อฟังและยอมจำนนต่อผู้มีอำนาจ รวมถึงความเชื่อในเรื่องโชคชะตาวาสนาและเคราะห์กรรม 2) ด้านแบบแผนพฤติกรรมทางการเมือง มีลักษณะดังนี้ วัฒนธรรมการวางเฉยต่อผลประโยชน์ส่วนรวม มีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารทางการเมืองมากขึ้นแต่มีการพูดคุยถกเถียงในเรื่องราวทางการเมืองน้อย และมีวัฒนธรรมหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและความขัดแย้งในประเด็นทางการเมือง ในบทความนี้ยังได้อธิบายถึงความสัมพันธ์ของปรากฏการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น ด้วยการหาเหตุผลมารองรับพร้อมกับการวิพากษ์ข้อค้นพบต่าง ๆ ที่แฝงอยู่ว่าเพราะเหตุใดปรากฏการณ์เช่นนี้จึงเกิดขึ้นได้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-12-29