การเสริมสร้างสัมพันธภาพในครอบครัวผ่านกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ผู้แต่ง

  • อามีเนาะ เจ๊ะแว คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

คำสำคัญ:

การละเล่นพื้นบ้าน, คติชน, เพลงประกอบการละเล่น, สัมพันธภาพในครอบครัว

บทคัดย่อ

บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาชนิดและประเภทของการละเล่นพื้นบ้าน รวมทั้งบทบาทของการละเล่นพื้นบ้านในการเสริมสร้างสัมพันธภาพในครอบครัวของชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ปรากฏในบทเพลงประกอบการละเล่นเด็ก ซึ่งได้จากการรวบรวมในพื้นที่อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส และบางพื้นที่ในจังหวัดปัตตานีและยะลา การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ รวบรวมข้อมูลจากภาคสนามและเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อวิเคราะห์บทเพลงประกอบการละเล่นจำนวน 19 เพลง โดยวิเคราะห์ตามทฤษฎีและแนวคิดต่าง ๆ อันประกอบด้วยทฤษฎีบทบาทหน้าที่ของคติชนในสังคม (Theories of Folklore) แนวคิดเกี่ยวกับการละเล่นพื้นบ้านและ
การเสริมสร้างสัมพันธภาพในครอบครัว ผลการศึกษาพบว่า การละเล่นพื้นบ้านในแต่ละประเภทมีบทบาทหน้าที่หลายประการซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีบทบาทหน้าที่ของคติชนในสังคม การละเล่นพื้นบ้านที่มีบทร้องเพลงประกอบถือเป็นส่วนหนึ่งของคติชนที่ทำหน้าที่ในการตอบสนองความต้องการของมนุษย์ทั้งทางด้านปัจจัยพื้นฐาน ด้านความมั่นคงของสังคมและความมั่นคงทางด้านจิตใจ รวมทั้งช่วยสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงทางวัฒนธรรมให้แต่ละสังคม โดยเฉพาะสถาบันครอบครัวที่เน้นให้สมาชิกในครอบครัวได้ทำกิจกรรมร่วมกันโดยมีบทเพลงเป็นสื่อกลางทำให้เกิดความสนุกสนานมากขึ้น ขณะเดียวกันการละเล่นพื้นบ้านที่มีบทร้องประกอบช่วยให้เด็ก ๆ สามารถเรียนรู้ทักษะด้านอื่น ๆ เช่น ทักษะด้านภาษา ร่างกาย อารมณ์ สติปัญญา และสังคมอีกทั้งบทร้องประกอบการละเล่นมีส่วนช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางภาษาโดยไม่รู้ตัว เพราะมีทั้งคำคล้องจอง คำถาม คำตอบ และคำพูด
ที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ช่วยให้เด็กมีร่างกายที่แข็งแรง มีความสุขและความสนุกสนาน รวมทั้งยังช่วยฝึกให้รู้จักการสังเกต การมีไหวพริบและการใช้เชาวน์ปัญญา นอกจากนั้น ยังปลูกฝังทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมส่งผลทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวและสังคม

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-12-29