ปัญหารัฐอิสลาม (Islamic State) ในตะวันออกกลาง:บทเรียนสำหรับภูมิภาคอาเซียน
คำสำคัญ:
รัฐอิสลาม, การก่อการร้าย, ประชาคมอาเซียน, ตะวันออกกลางบทคัดย่อ
หลังจากเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายเขย่าโลกเมื่อ 11 กันยายน 2544 จนสหรัฐฯ ต้องประกาศ
สงครามเพื่อตามล่าโอซามา บิน ลาเดน (Osama bin Laden) ผู้ก่อตั้งกลุ่มอัลกออิดะห์ (Al-Qaeda)
ซึ่งสหรัฐฯ เชื่อว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการครั้งนั้น ถึงแม้ผลของการตามล่าจะประสบความสำเร็จ
หลังใช้เวลาถึง 10 ปี แต่กลับไม่สามารถนำความสงบสุขกลับมาสู่โลกและภูมิภาคได้ ในทางกลับกัน
กลับทำให้เกิดกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มใหม่ที่มีความสุดโต่งยิ่งกว่าภายใต้ชื่อ “IS” หรือ “Islamic State”
โดยกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มนี้มีเป้าหมายเพื่อก่อตั้งรัฐอิสลามให้เป็นศูนย์กลางและผู้นำของชาวมุสลิมทั้ง
โลก (Caliphate) ด้วยการอ้างนำหลักศาสนามาเป็นเครื่องมือและใช้สื่อโซเชียล (Social Media) ใน
การเผยแผ่อุดมการณ์ของกลุ่ม ทำให้มีผู้ที่ฝักใฝ่จำนวนมากเดินทางเข้าไปร่วมรบในอิรักและซีเรียที่ทาง
กลุ่มยึดครองและประกาศก่อตั้งเป็นรัฐอิสลาม (Islamic State of Iraq and the Levant) แต่จาก
การปราบปรามอย่างหนักด้วยการสนับสนุนของมหาอำนาจทั้งรัสเซียและสหรัฐฯ ในที่สุดซีเรียและ
อิรักก็สามารถยึดดินแดนคืนจากกลุ่มไอเอสได้เป็นส่วนใหญ่ ทำให้ทางกลุ่มต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ โดย
กระตุ้นให้สมาชิกที่กระจายอยู่ในหลายประเทศใช้ปฏิบัติการก่อการร้ายโดยลำพัง (Lone Wolf)
ซึ่งวิธีดังกล่าวก็ยังส่งผลกระทบทั้งทางจิตวิทยาและสร้างความสูญเสียในหลายภูมิภาคจนถึงปัจจุบัน
ในส่วนของภูมิภาคอาเซียนพบว่ากลุ่มก่อการร้ายหลายกลุ่มได้ประกาศตัวสวามิภักดิ์ต่อไอเอสและ
เจริญรอยตามทั้งการใช้สัญลักษณ์และวิธีการ โดยเหตุการณ์ที่ทำให้อาเซียนต้องตื่นตัวอย่างมากคือ
การยึดเมืองมาราวีของฟิลิปปินส์โดยกลุ่มมาอูเต (Maute) หรือที่เรียกตัวเองว่า “Islamic State of
Lanao” ทำให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ต้องทุ่มกำลังทหารเข้าปราบปรามแต่ก็ต้องใช้เวลาถึง 5 เดือนเต็ม
จึงสามารถยึดเมืองคืนได้สำเร็จ และสามารถสังหารกลุ่มก่อการร้ายได้เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม
กลุ่มก่อการร้ายที่ฝักใฝ่ไอเอสก็ยังไม่หมดไป ยังคงมีการเคลื่อนไหวปฏิบัติการในหลายประเทศของ
อาเซียน ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
จะเห็นได้ว่าการก่อเกิดของการก่อตั้งรัฐอิสลามในตะวันออกกลางได้ส่งผลให้การก่อการร้าย
ทั่วโลกและในอาเซียนมีความรุนแรงขึ้น รวมถึงการปฏิบัติการยึดเมืองมาราวีที่ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะ
เกิดขึ้นในอาเซียน บทวิจัยนี้จึงได้กำหนดกรอบการวิจัยด้วยการศึกษาการก่อการร้ายโดยรัฐอิสลามใน
ตะวันออกกลาง วิเคราะห์เปรียบเทียบกับการก่อการร้ายในภูมิภาคอาเซียนผ่านตัวแปรร่วมที่สำคัญ
ทั้งในแง่ของความเป็นมาเชิงประวัติศาสตร์ ความแตกต่างของภูมิรัฐศาสตร์ ปัจจัยภายในและปัจจัย
ภายนอกที่ส่งผลต่อการก่อการร้าย และการพัฒนาของสถานการณ์ รวมถึงการสัมภาษณ์เชิงลึก
ผู้เชี่ยวชาญที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อนำมาเป็นบทเรียนในการเสนอแนะแนวทาง
กำหนดนโยบายด้านการเมืองระหว่างประเทศของอาเซียน ในการเสริมสร้างความมั่นคงและป้องกัน
ปัญหาการขยายตัวด้านการก่อการร้ายของภูมิภาคอาเซียน รวมถึงประเทศไทยในอนาคต
Downloads
เผยแพร่แล้ว
ฉบับ
บท
License
บทความ ข้อเขียน หรือความคิดเห็นในนิตยสารนี้เป็นของผู้เขียน ไม่ผูกพันกับวิทยาลัย ป้องกันราชอาณาจักรและทางราชการแต่อย่างใด