บทเรียนและการพัฒนาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

ผู้แต่ง

  • นักรบ บุญบัวทอง กองบัญชาการทหารสูงสุด

คำสำคัญ:

พูดคุยเพื่อสันติสุข, การบูรณาการ, ความมั่นคงแห่งชาติ, ปัจจัยสู่ความสำเร็จ

บทคัดย่อ

ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือเป็นปัญหาความมั่นคงของชาติที่สำคัญยิ่งปัญหาหนึ่ง มีการกำหนดให้เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมาจนถึงรัฐบาล        ชุดปัจจุบัน แต่เนื่องจากเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน มีความสลับซับซ้อนอีกทั้งเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังคงมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปด้วยความยากลำบาก และยัง   ไม่มีท่าทีว่าจะยุติลงได้โดยง่ายและในเร็ววัน จากบทเรียนและแนวทางการพัฒนาแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมา ทุกรัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาใน ๓ ระดับ คือ การออกนโยบายให้เป็นวาระแห่งชาติ  การจัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติงาน และการทุ่มเทกำลังด้านความมั่นคงและกำลังทรัพยากรลงในพื้นที่ ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถควบคุมเหตุการณ์และยุติปัญหาได้โดยเร็วซึ่งสาเหตุจากการไม่ประสบผลสำเร็จในการแก้ไขปัญหานั้น สามารถวิเคราะห์สาเหตุหลักใหญ่ๆ คือ “นโยบายการแก้ไขปัญหาของแต่ละรัฐบาลถูกต้องหรือไม่” และ “ทำอย่างไรจึงจะแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้” ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการตั้งคำถามที่อยู่ในใจของประชาชนทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่บ้าง โดยในที่สุดแนวทางในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดความหลากหลายจนหาข้อยุติไม่ได้

               บทเรียนและแนวทางการพัฒนาแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมาข้างต้น ผู้เขียนสามารถสรุปเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างสงบและยั่งยืน ๕ วิธี ดังนี้ ๑) รัฐบาลจะต้องมีความมั่นคง มีประสิทธิภาพ และมีความเข้าใจที่จะบริหารการจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้อย่างถูกวิธี ๒) นโยบายจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมและถูกต้องตามปัญหาที่เกิดขึ้น โดยใช้  “ด้านสังคม” เป็นตัวนำและทำให้ประชาชนเห็นว่าเป็นวาระแห่งชาติจริง ๆ ๓) การใช้กำลังทหาร และกำลังความมั่นคงต้องใช้ให้ถูกกับภารกิจและมีกำลังอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับหลักนิยมและฝ่ายตรงข้าม ๔) งบประมาณจะต้องใช้จ่ายในรูปแบบ แผนงาน/โครงการ ที่สอดคล้องกับนโยบาย มีการกำหนดน้ำหนักและความเร่วด่วนประกอบ และ ๕) ต้องให้ความสำคัญกับการพูดคุยเพื่อสันติสุข โดยการจัดโครงสร้างและคณะพูดคุยให้เหมาะสม รวมทั้งปรับแผนรองรับการพูดคุยให้เป็นไปตามหลักการ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-12-30