โรงพยาบาลเสมือนจริงแห่งประเทศไทยเพื่อการแก้ปัญหาสาธารณสุขไทยเชิงระบบ

ผู้แต่ง

  • สุรินทร์ อัศววิทูรทิพย์ วปอ.สปท.

คำสำคัญ:

โรงพยาบาลเสมือนจริง

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

งานวิจัยชิ้นนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขไทยเชิงระบบด้วยแนวคิดโรงพยาบาลเสมือนจริงของประเทศไทย (Thailand’s Virtual Hospital) พร้อมกับนำเสนอแนวทางประยุกต์ใช้โรงพยาบาลเสมือนจริง

จากการศึกษาข้อมูล ผู้วิจัยพบว่าปัญหาของระบบสาธารณสุขไทยเชิงระบบนั้นส่วนใหญ่อยู่ที่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหารทรัพยากร จึงไม่สามารถบริหารทรัพยากรในภาพรวมของประเทศได้ ซึ่งสามารถนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมาพัฒนาและแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้นำเสนอโมเดลต้นแบบโรงพยาบาลเสมือนจริง ซึ่งมี 3 องค์ประกอบสำคัญดังนี้ (1) การให้บริการบนเวอร์ชวลแพลตฟอร์ม (virtual platform) (2) การจัดเก็บข้อมูล การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการจัดโครงสร้างข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ในทิศทางเดียวกัน (Online Synchronized Database) และ (3) บริการเสริมเพื่อการจัดเก็บข้อมูล การให้บริการ การประมวลผลและการคาดการณ์จากข้อมูล (Big-Data Driven Management & Add-on services) ซึ่งแนวทางพัฒนาโรงพยาบาลเสมือนจริงนี้ ควรแบ่งทำเป็น 3 ระยะ โดยระยะที่ 1 จัดให้มีนโยบายและมาตรฐานข้อมูล ระยะที่ 2 จัดให้มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการให้บริการระดับจุลภาคหรือในระดับโรงพยาบาลให้รองรับการให้บริการต่าง ๆ ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-services) และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จำเป็น และระยะที่ 3 การใช้เครื่องมือ รวมถึงพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ ที่ทำให้การให้บริการโรงพยาบาลเสมือนจริงนั้นครอบคลุมและครบถ้วนมากยิ่งขึ้น เช่นการใช้อุปกรณ์เสริม IoT Wearable Device ที่สามารถเก็บข้อมูลที่สำคัญต่าง ๆ (Vital Sign) ของผู้ป่วยและส่งข้อมูลนั้นให้แพทย์สามารถประเมินได้โดยไม่ต้องอาศัยการซักประวัติเพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ดี หากจะนำโรงพยาบาลเสมือนจริงมาประยุกต์ใช้ จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาทั้ง 3 ระดับได้แก่  (1) Infrastructure (Networking Cloud) คือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานด้านการเชื่อมต่อที่จำเป็น รวมถึงการปรับกฎหมายเพื่อให้รองรับโรงพยาบาลเสมือนจริง (2) System Redesign คือการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานที่สอดรับการกระบวนการทำงานที่มีเทคโนโลยีเข้าช่วย และท้ายสุด (3) People Readiness คือความพร้อมของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นผู้รับบริการที่ต้องมีความรู้ด้านดิจิตัล (Digital Literacy) และความรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) ที่มากขึ้น หรือผู้ให้บริการ ที่ต้องมีทัศนคติที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและมีระบบรองรับการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ปัจจัยที่จะทำให้โรงพยาบาลเสมือนจริงใช้งานได้สำเร็จคือ การก่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน (Trust) ระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ

คำสำคัญ : โรงพยาบาลเสมือนจริง

 

 

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-04-30