แนวทางการกำกับดูแลสื่อใหม่ (New Media) บนโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ภายใต้บริบทกฎหมายไทย

ผู้แต่ง

  • natee sakulrat ndc

คำสำคัญ:

การกำกับดูแล, สื่อใหม่, อินเทอร์เน็ต, กฎหมายไทย

บทคัดย่อ

       การวิจัยเรื่องแนวทางการกำกับดูแลสื่อใหม่ (New Media) บนโครงข่ายอินเทอร์เน็ตภายใต้บริบทกฎหมายไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาศึกษาแนวโน้มของการให้บริการสื่อใหม่ผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ตในภูมิภาคต่างๆ ของโลกและในประเทศไทย ตลอดจนแนวทางสากลในการกำกับดูแลที่มีการดำเนินการในต่างประเทศ รวมทั้งกฎหมายในการกำกับดูแลของประเทศไทยที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก่อนจะทำการวิเคราะห์ปัญหาและช่องว่างทางกฎหมาย และนำเสนอแนวทางการกำกับดูแลสื่อใหม่บนโครงข่ายอินเทอร์เน็ตภายใต้บริบทกฎหมายของไทย เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ ในขณะที่สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการขับเคลื่อนประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้ภายในปี พ.ศ. 2580

                 การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ร่วมกับใช้การวิจัยเชิงพรรณา โดยการเก็บข้อมูลปฐมภูมิจากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้เชี่ยวชาญในด้านสื่อใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี
ด้านนิเทศศาสตร์ ด้านเศรษฐศาสตร์ และด้านกฎหมาย และผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิ เสรีภาพ และ
ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และเก็บข้อมูลทุติยภูมิจากการศึกษาวรรณกรรมต่างๆ งานประชุมเสวนาการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ Over The Top ที่จัดขึ้นโดยสำนักงาน กสทช. ซึ่งมี
ผู้ให้บริการเนื้อหารายการ ผู้ประกอบกิจการช่องรายการ ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ผู้ประกอบกิจการ
ด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร และตัวแทนจากภาครัฐเข้าร่วมการเสวนา ตลอดจนข้อมูลจากกฎหมายและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เนื้อหา เปรียบเทียบ และสังเคราะห์ข้อมูลทฤษฎีและหลักการต่างๆ

                     จากการศึกษาพบว่า การเกิดขึ้นของบริการสื่อใหม่บนโครงข่ายอินเทอร์เน็ตนั้น แม้ว่าจะอำนวยความสะดวกและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้บริการ แต่ก็ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ทั้งในด้านการดำรงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรม ค่านิยม และศีลธรรมอันดี อีกทั้งยังส่งผลต่อความแตกแยกของคนในชาติอีกด้วย โดยพบว่า ปัญหาหลักที่ทำให้การกำกับดูแลสื่อใหม่ภายใต้บริบทกฎหมายไทยยังไม่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ ปัญหาสภาพการบังคับใช้กฎหมายกับสื่อใหม่ ปัญหาเรื่องประสิทธิภาพของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบัน และปัญหาสัดส่วนและสมดุลของการบังคับใช้กฎหมาย

                 จากการวิเคราะห์ข้อมูลข้างต้น งานวิจัยชิ้นนี้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ได้แก่การออกกฎหมายที่ให้อำนาจกับ กสทช. ในการกำกับดูแลกิจการหลอมรวม ปรับกระบวนการบังคับใช้กฎหมายในกรณีการทำความผิดต่อสาธารณะมาเป็นกระบวนการทางปกครอง โดยให้ กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรเชี่ยวชาญเฉพาะอุตสาหกรรมเป็นผู้กำกับดูแล รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายโดยสมดุลและได้สัดส่วนระหว่างผลการบังคับใช้กฎหมายกับผลกระทบที่เกิดกับผู้ใช้บริการ นอกจากนี้  มีข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติการ ได้แก่ การกำกับดูแลโดยไม่ปิดกั้นการให้บริการของสื่อใหม่ ด้วยการสร้างกลไกการกำกับดูแลที่เหมาะสมเท่าที่จำเป็น ซึ่งมาจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตลอดจนการนำเงื่อนไขการประกอบธุรกิจของผู้ให้บริการสื่อใหม่และเงื่อนไขคุณภาพการให้บริการมาใช้ประโยชน์ในการโน้มน้าวให้ผู้ให้บริการสื่อใหม่เห็นความจำเป็นและสมัครใจเข้าสู่กระบวนการกำกับดูแล เพื่อลดหรือยุติความเสียหายจากการเผยแพร่ข้อมูลที่กระทบต่อสาธารณะ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพการให้บริการของสื่อใหม่บนโครงข่ายอินเทอร์เน็ตต่อไปในอนาคต

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-10-03