การส่งเสริมปลูกไม้เศรษฐกิจเพื่อธุรกิจค้าไม้ : กรณีศึกษาไม้พะยูง

ผู้แต่ง

  • Sarawut Uthenrat -

คำสำคัญ:

การส่งเสริม, ไม้เศรษฐกิจ, ไม้พะยูง

บทคัดย่อ

การปลูกสร้างสวนป่าเพื่ออุตสาหกรรม นอกจากไม้สัก (Tectona grandis) ซึ่งเป็นไม้ที่มีการเจริญเติบโตปานกลาง นิยมปลูกกันทั่วไปเนื่องจากมีคุณค่าทางเศรษฐกิจสูงแล้ว ส่วนมากจะเน้นการปลูกไม้โตเร็ว เช่น ยูคาลิปตัสคามาลดูเลนสิส (Eucalyptus camaldulensis) สะเดาเทียม (Azadirachta excels) ไม้เลี่ยน (Melia azedarach) กระถิ่นณรงค์ (Acacia auricularformis) และกระถิ่นเทพา (Acacia mangium) เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว ยังมีไม้ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอีกหลายชนิดที่เหมาะสมในการปลูกควบคู่กันไป เช่น พะยูง (Dalbergia cochinchinensis) แดง (Xylia kerrii) และประดู่ป่า (Pterocarpus macrocarpus) เป็นต้น (จตุพร, 2559) โดยในปัจจุบันประเทศไทยมีการปรับบทกฎหมายให้สอดคล้องกับบริบททางสังคม เพื่อพัฒนาต่อยอดสู่การส่งเสริมการปลูกป่าในพื้นที่ดินเอกชน โดยการควบคุมของกรมป่าไม้ ซึ่งมีการปลดล็อคไม้มีค่าทางเศรษฐกิจให้สามารถปลูกและตัดได้ในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน และไม่ถือว่าเป็นไม้หวงห้าม หรือไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ให้ถือว่าไม่เป็นไม้หวงห้ามด้วยเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมปลูกไม้เศรษฐกิจเพื่อธุรกิจค้าไม้ในประเทศไทยยังคงมีการถกเถียงในกระแสสังคมอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะกรณีศึกษาไม้พะยูงไทย (Dalbergia cochinchinensis) หรือ Rosewood ซึ่งพบปัญหาการลักลอบตัดทั้งในป่าธรรมชาติและในที่ดินส่วนบุคคล อันเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดอาชญากรรมทางธรรมชาติอยู่ไม่น้อย จึงจำเป็นต้องทำการศึกษาความเป็นมาเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลอันเท็จจริงสู่การต่อยอดองค์ความรู้ และสามารถนำไปเป็นแนวทางในการส่งเสริมเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจอย่างครบวงจรได้ต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-09-05