มองพัฒนาการ ของสังคมไทยผ่านพัฒนาการของบทเพลงไทยลูกทุ่ง
Abstract
บทความนี้มุ่งนำเสนอเรื่องพัฒนาการของสังคมไทยโดยมองผ่านพัฒนาการของเพลงไทยลูกทุ่ง ผลการศึกษาพบว่า พัฒนาการของเพลงไทยลูกทุ่งนั้นสามารถจำแนกได้ 2 ช่วง คือ (1) ยุคบุกเบิกกระทั่งถึงสมัย พุ่มพวง ดวงจันทร์ ซึ่งแบ่งย่อยออกเป็น ยุคดั้งเดิม ยุคทอง ยุคภาพยนตร์เพลง ยุคเพื่อชีวิต ยุคหางเครื่องและ คอนเสิร์ต และยุคลูกทุ่งแนวสตริง (2) ยุคหลังพุ่มพวง ดวงจันทร์กระทั่งถึงปัจจุบัน แบ่งย่อยออกเป็นเพลงไทยลูกทุ่งแนวสตริง เพลงไทยลูกทุ่งแนวเพื่อชีวิต และเพลงไทยลูกทุ่งแนวป๊อปแดนช์ ความน่าสนใจ อยู่ตรงที่เพลงไทยลูกทุ่งมีความพลิ้วไหวยืดหยุ่นสามารถผสมผสานเข้ากับแนวเพลงที่อยู่ในกระแสนิยมของยุคสมัยได้อย่างกลมกลืนลงตัว วิวัฒนาการที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดนั่นเอง ส่วนพัฒนาการของสังคมไทยที่มองเห็นจากเนื้อหาของบทเพลงไทยลูกทุ่งปรากฏว่า เพลงไทยลูกทุ่งในอดีตมุ่งสะท้อนลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ พันธุ์ไม้พื้นบ้าน ทรัพยากรในท้องถิ่น ซึ่งเป็นลักษณะทางกายภาพของพื้นถิ่นชนบท จากนั้นก็บอกเล่าให้มองเห็นวิถีของคนชนบททั้งด้านความคิด ความเชื่อ ศาสนา ความเป็นอยู่ ภาพที่ถ่ายทอดออกมาทำให้มองเห็นว่าคนชนบทผูกพันกับท้องถิ่น ธรรมชาติ และการเกษตรกรรม ส่วนเนื้อหาของบทเพลงไทยลูกทุ่งในยุคต่อมา สะท้อนให้เห็นวิถีของคนชนบทที่เริ่มต้องต่อสู้ดิ้นรนกับการดำเนินชีวิต ความยากจน การศึกษา และอื่น ๆ โดยสอดแทรกสภาพสังคมวัฒนธรรมของพื้นถิ่นชนบทไว้ด้วย และสุดท้ายยุคปัจจุบันเนื้อหาของบทเพลงไทยลูกทุ่งสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของวิถีสังคมของคนชนบท อันเนื่องจากกระแสทุนนิยม วัฒนธรรมตะวันตก โลกาภิวัตน์ และอื่น ๆ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการเข้ามาเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ ค่านิยมของชาวบ้านให้หันเหไปสู่วิถีแบบใหม่ ค่านิยมที่ดีงามที่คนในสังคมเคยยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ เมื่อถูกละเลยมองข้ามความสำคัญอิทธิพลจากภายนอกก็เริ่มกัดกร่อนทำลายความเป็นไทย ทำให้คนไทยรุ่นใหม่เริ่มอยู่อย่างคนไร้ราก อันเป็นภาวการณ์ที่น่าห่วงใยอย่างยิ่ง
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
บทความในวารสารรูสมิแลเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน ผู้ประสงค์จะนำข้อความใดๆ ไปเผยแพร่
ต้องได้รับอนุญาตจากผู้เขียนตามกฎหมายลิขสิทธิ์ และแจ้งให้ทางกองบรรณาธิการทราบ
กองบรรณาธิการขอสงวนลิขสิทธิ์ในการตัดทอน/ปรับแก้ถ้อยคำเพื่อความเหมาะสม