สิทธิและหน้าที่ของภริยาตามกฎหมายอิสลาม: ศึกษากรณีการปฏิบัติในจังหวัดปัตตานี
Abstract
คอลัมน์พิเศษ “ย่อยวิทยานิพนธ์” ฉบับนี้ จะบอกเล่าเกี่ยวกับสิทธิของภริยาในยุคก่อนอิสลามโดยเฉพาะในยุคญะฮิลิยะฮฺก่อนอิสลามอาจกล่าวได้ว่าสิทธิของภริยามีน้อยมาก และยังถูกกดขี่ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น เมื่อสามีตาย ภริยาต้องตกเป็นของพ่อของสามี และหากพ่อของสามีไม่ต้องการ สามารถบังคับให้นางสมรสกับชายอื่น โดยพ่อของสามีเป็นผู้ได้ค่าสินสอดทั้งหมด หากพ่อของสามีไม่ต้องการและไม่บังคับให้สมรสใหม่นางต้องอยู่เป็นหม้ายไปจนตาย และทรัพย์สินที่นางมีอยู่ต้องตกเป็นมรดกของพ่อสามีทันทีครั้นเมื่ออิสลามถูกประทานลงมาเป็นศาสนาที่ประกาศอย่างชัดเจนในการให้ความเป็นธรรมและความเสมอภาค เอาใจใส่ ให้เกียรติแก่สตรีทั้งในฐานะที่เป็นภริยาและในฐานะอื่นๆ โดยสตรีคนแรกที่ถูกสร้างมาบนโลกนี้คือ หะวาอ์ ซึ่งมาในฐานะเป็นภริยาของอาดัม เพื่อทั้งสองจะได้ดำเนินชีวิตตามกรอบกฎเกณฑ์ที่ อัลลอฮฺทรงกำหนดไว้ให้ปฏิบัติ มีคำสั่งและข้อห้ามจากพระองค์และหะวาอ์ในฐานะภริยาก็มีสิทธิและหน้าที่อย่างเท่าเทียมกันและมีความเสมอภาคในการรับผิดชอบต่อการกระทำของตน ภริยาเป็นผู้ต้องปฏิบัติตาม คำสอนของอิสลามเหมือนสามีและเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อสถาบันครอบครัว มีส่วนรับผิดชอบในการสร้าง รักษาความมั่นคง ความยั่งยืนและความสงบสุขให้แก่ครอบครัวและสังคม ซึ่งวิทยานิพนธ์นี้เป็นผลงานของ นายอาหมัด อัลฟารีดีย์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาอิสลามศึกษา ปี พ.ศ. 2549 ที่เลือกจังหวัดปัตตานีเป็นพื้นที่ศึกษา เนื่องจากเป็นจังหวัดหนึ่งในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามและมีลักษณะเฉพาะในหลายๆ ด้าน แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะในด้านการปฏิบัติศาสนกิจ ชาวมุสลิมในพื้นที่นี้มีแบบแผนการดำเนินชีวิตประจำวันตามหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งถือเสมือนธรรมนูญชีวิตของพวกเขา เพราะอิสลามไม่ได้เป็นเพียงศาสนาที่ประกอบด้วยหลักการปฏิบัติและวัฒนธรรมอิสลามเป็นทางดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์และไม่ได้จำกัดขอบเขตเพียงเรื่องส่วนตัวเท่านั้น หากแต่ยังครอบคลุมทุกๆ ด้านของชีวิตสังคมอีกด้วย และพวกเขามีความยึดมั่น เคร่งครัดในศาสนาอิสลามมากกว่าชาวไทยมุสลิมในภูมิภาคอื่นๆ มีความหวาดหวั่นในการสูญเสียความบริสุทธิ์ของศาสนาอันเนื่องจากปัจจัยแวดล้อมในทุกๆ ด้าน ทั้งในส่วนบุคคล ครอบครัวและสังคม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชาวไทยมุสลิมภาคใต้ทั้งชายและหญิงมีความเคร่งครัดยึดมั่นในหลักการศาสนา ทั้งนี้เพื่อจะได้ทราบถึงการปฏิบัติหน้าที่และการได้ซึ่งสิทธิของภริยาตามสภาพที่เป็นจริงในปัจจุบันว่าเป็นไปตามที่กฎหมายอิสลามกำหนดไว้หรือไม่ เพื่อจะได้นำข้อมูลจากการศึกษามาส่งเสริม การสร้างครอบครัวมุสลิมที่สมบูรณ์ มั่นคงและยั่งยืน เป็นประโยชน์ต่อสถาบันครอบครัวและผู้เกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายและแนวทางพัฒนาครอบครัวในอนาคตต่อไปDownloads
Published
2018-09-01
How to Cite
วงษ์มณฑา อ. (2018). สิทธิและหน้าที่ของภริยาตามกฎหมายอิสลาม: ศึกษากรณีการปฏิบัติในจังหวัดปัตตานี. RUSAMILAE JOURNAL, 39(3), 95–99. Retrieved from https://so05.tci-thaijo.org/index.php/rusamelae/article/view/178948
Issue
Section
ย่อยวิทยานิพนธ์
License
บทความในวารสารรูสมิแลเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน ผู้ประสงค์จะนำข้อความใดๆ ไปเผยแพร่
ต้องได้รับอนุญาตจากผู้เขียนตามกฎหมายลิขสิทธิ์ และแจ้งให้ทางกองบรรณาธิการทราบ
กองบรรณาธิการขอสงวนลิขสิทธิ์ในการตัดทอน/ปรับแก้ถ้อยคำเพื่อความเหมาะสม