แง่มุมใหม่และข้อมูลใหม่ในการศึกษาภาคใต้

Authors

  • Cherdchai Udomphan

Keywords:

editorial, Southern Studies

Abstract

แง่มุมใหม่และข้อมูลใหม่ในการศึกษาภาคใต้

ในสถานการณ์ที่ประเทศไทยและสังคมโลกยังคงอยู่ในบรรยากาศของ “มหันตภัยโควิด 19” วารสาร     “รูสมิแล” ฉบับที่ผ่านมาก็ได้กล่าวถึงแง่มุมและเรื่องราวโรคติดต่อนี้ไว้เป็นหลักฐานในทางประวัติศาสตร์แล้ว

มาถึงฉบับนี้เปลี่ยนบรรยากาศไปย้อนประวัติศาสตร์ เพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนในจังหวัดภาคใต้กันบ้าง บทความเด่นฉบับนี้จึงเป็นเรื่องราวจากนักวิชาการชาวจีน Ma Guitong ที่เขียนเรื่อง “พัฒนาการสร้างเครือข่ายของชาวจีนฮากกาในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง”

แม้ในงานวิชาการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และสังคมภาคใต้ จะมีงานศึกษาเกี่ยวกับคนจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนออกมาหลายๆ เล่มแล้ว เช่น งานเรื่อง “จีนทักษิณ” ของสุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ หนังสือเรื่อง “ขุนนิพัทธ์จีนนคร…(เจีย กีซี) : พ่อค้าคนจีนผู้สร้างประวัติศาสตร์หาดใหญ่และหัวเมืองภาคใต้” ของศุลีมาน วงศ์สุภาพ รวมถึงผลงาน “ทุนจีนปักษ์ใต้ : ภูมิหลังเบื้องลึกทุนใหญ่โพ้นทะเล” ของ ภูวดล ทรงประเสริฐ  หรืองานของ ศุภการ  สิริไพศาล อภิเชษฐ  กาญจนดิฐ พรชัย  นาคสีทอง  และสุมาลี  ทองดี เมื่อ พ.ศ.2548 เรื่อง “ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนชาวจีนเมืองหาดใหญ่อดีตถึงปัจจุบัน”

แต่องค์ความรู้เกี่ยวกับคนจีนในภาคใต้ก็ยังคงมีแง่มุมที่ไม่จบไม่สิ้น โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเพณีและวัฒนธรรม เราจะพบว่ามรดกของความเป็นจีนมีบทบาทต่อวิถีชีวิต วิธีคิด ความเชื่อ ตลอดจนลักษณะทางสังคมวิทยาอยู่ไม่น้อย ดังที่อาจารย์หม่าชี้ว่า พัฒนาการในการสร้างเครือข่ายทางสังคมของชาวจีนฮากกาที่เกิดขึ้นอย่างเข้มข้นในภาคใต้และในประเทศไทยโดยรวมนั้น เป็นผลสะท้อนโดยตรงของการขยายอำนาจจัดการคนต่างชาติของรัฐบาลไทยที่ได้ปฏิบัติอย่างเข้มงวดตั้งแต่ทศวรรษ 2470     เป็นต้นมา  กลุ่มชาวจีนฮากกาจึงก่อตัวเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งขึ้นเพื่อรองรับกับสถานการณ์และบริบททางสังคมและการเมืองที่เปลี่ยนแปลงของรัฐบาลไทย  พวกเขาได้ต้องปรับปรนอัตลักษณ์ตัวเองเข้ากับอัตลักษณ์ความเป็นไทยต้องแสดงออกถึงความเป็นไทยในด้านเชื้อชาติ ลดความเป็นจีนให้น้อยลง มีการปรับเปลี่ยนสำนึกคิด  และเรียนรู้สังคม ภาษา วัฒนธรรม ประเพณีและความเชื่อของไทยมากขึ้น

บทความของ ดร.หม่า ทำให้เห็นเครือข่ายสัมพันธ์ของชาวจีนในภาคใต้ที่ข้ามพรมแดนจังหวัด จากหาดใหญ่ซึ่งเป็นเมืองหลวงของภาคใต้ ไปสู่พื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดชายแดน จนกระทั่งถึงอำเภอเบตง ใต้สุดแดนสยามที่ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีบทบาทการเคลื่อนไหวของชาวจีนโพ้นทะเลดำรงอยู่ด้วยอย่างใกล้ชิด

บทความอีกเรื่องคือการวิเคราะห์วรรณกรรมนิราศปัตตานี ของพิเชฐ แสงทอง ที่บอกเล่าให้เห็นสถานการณ์ของจังหวัดปัตตานีในเหตุการณ์ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 เหตุการณ์ครั้งนี้สะท้อนนัยให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัตตานีกับศูนย์กลางอำนาจราชการที่กรุงเทพฯ และความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับไทยผ่านความหมายระหว่างบรรทัด ขณะเดียวกัน ก็แสดงถึงทัศนคติของชาวปัตตานีที่มีต่อกองทหารญี่ปุ่นในยุคนั้นในลักษณะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก 

งานชิ้นนี้เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลวรรณกรรมเพื่อสะท้อนประวัติศาสตร์ความคิดของประชาชน ซึ่งอาจจะมองเห็นได้ยากจากเอกสารของทางราชการที่ขาดอารมณ์และความรู้สึก ประวัติศาสตร์ลักษณะนี้จึงสามารถค้นพบได้ก็จากเอกสารส่วนบุคคลหรือจากหลักฐานประวัติศาสตร์บอกเล่าของประชาชนเท่านั้น   ดังเราจะเห็นได้จากบทความอีกชิ้นหนึ่งของ ชิด ชยากร ที่ย้อนเล่าถึงความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ประท้วงรัฐบาลโดยกลุ่มชาวพังงาและนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัด ทั้งนี้บทความเน้นมุมมองจากความ   ทรงจำของนักเรียนโรงเรียนตะกั่วป่า “เสนานุกูล” ที่ได้เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงครั้งนั้นด้วย 

ข้อมูลลักษณะนี้จึงเป็นข้อมูลจากประวัติศาสตร์บอกเล่าที่ให้ข้อเท็จจริงใหม่ที่ไม่เคยมีเอกสารใดบันทึกได้ เนื่องจากสัมพันธ์กับอารมณ์และความรู้สึกของผู้คนซึ่งเป็นปัจเจกบุคคล และร่วมอยู่ในเหตุการณ์นั้นโดยตรง   ความทรงจำของ ชิด ชยากร ทำให้เห็นบรรยากาศความคึกคักและตื่นตัวในทางการเมืองของเยาวชนไทยในช่วงทศวรรษ 2510 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ต่อเนื่องไปจนกระทั่งเกิดเหตุ 6 ตุลาคม 2519 เห็นความเคลื่อนไหวของคนท้องถิ่นในลักษณะแนวร่วมการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาและประชาชนในกรุงเทพฯ โดยที่ท้องถิ่นนั้นมีประเด็นปัญหากลางของตัวเอง  กรณีนี้ก็คล้ายคลึงกับที่เกิดการลุกฮือขึ้นประท้วงของชาวบ้าน ตลอดจนนักเรียน และนักศึกษาในจังหวัดปัตตานีกรณีสังหารโหดทิ้งสะพานกอตอที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2518 กระทั่งกลายเป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ปัตตานี ซึ่งวารสาร  รูสมิแล ก็ได้เคยตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปแล้วในฉบับที่ 3 ปีที่ 40  เดือนกันยายน-ธันวาคม 2562 ในบทความเรื่อง “ความเป็นมาของการจัดการชายแดนใต้ : เรื่องเล่าการประท้วง กรณี ‘สะพานกอตอ’ สมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช”

ส่วนบทความอื่นๆ ในฉบับนี้ก็ล้วนแล้วแต่น่าสนใจทั้งสิ้น เช่น บทความของวสันต์ ญาติพัฒ ที่บอกเล่าถึงการเข้ามายกระดับงานวันวิสาขบูชาของชาวบ้านให้กลายเป็นพระราชพิธีบำเพ็ญกุศลของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่มีการปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลที่ 9 ขณะที่บทความของอาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ บอกเล่าถึงความเป็นมาของโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือ “โรงพยาบาลบนควนท่าข้าม” ที่เรารู้จักกันดีว่าเป็นโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคจิตเวชที่สร้างขึ้นเป็นแห่งที่ 2 ของประเทศไทย โดยคณะราษฎร ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 

บทความของสมาน อู่งามสิน ก็บอกเล่าถึงเรื่องเล่าคลาสสิกเรื่อง “นัสรูดิน” ที่แม้จะเป็นเรื่องที่สร้างอารมณ์เบิกบานสนุกสนาน แต่ในมิติเชิงลึกแล้ว เรื่องเล่าเรื่องนี้ซ่อนกลเม็ดการสอนหลักสัจธรรมพื้นฐานและปรัชญาซูฟีย์เอาไว้อย่างแนบเนียน.

Downloads

Published

2020-08-31

How to Cite

Udomphan, C. (2020). แง่มุมใหม่และข้อมูลใหม่ในการศึกษาภาคใต้. RUSAMILAE JOURNAL, 42(2). Retrieved from https://so05.tci-thaijo.org/index.php/rusamelae/article/view/254219

Issue

Section

บทบรรณาธิการ