การจัดการความขัดแย้งโดยนายอำเภอของประชาชนในประเทศไทย
Main Article Content
Abstract
นายอำเภอเป็นข้าราชการที่เป็นกลไกหลักในการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม มีบทบาทสำคัญในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนหรือความขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในเขตพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบ ให้ระงับ หรือยุติลงด้วยความเรียบร้อยและเป็นที่พึงพอใจของ
ทุกฝ่าย การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพแบบการสร้างทฤษฎีจากข้อมูลพื้นฐาน (Grounded theorymethodology) ซึ่งจะทำให้ได้องค์ความรู้ใหม่ในบริบทของสังคมไทย อันจะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการจัดการความขัดแย้งโดยนายอำเภอให้สูงขึ้น ผู้ศึกษาวิจัยเลือกนายอำเภอของประชาชน ซึ่งเป็น
นายอำเภอที่มีความรู้ ความสามารถ คุณธรรมจริยธรรม และมีผลงานดีเด่นเป็นพิเศษ เป็นผู้ให้ข้อมูลหลักด้วยวิธีการเลือกแบบเจาะจง และจัดเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2552 จนถึงเดือนมิถุนายน 2553 การวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีการแปลความหมายและกำหนดรหัสข้อมูล และสร้างมโนทัศน์ขึ้นโดยอาศัยความไว
เชิงทฤษฎี
ผลการศึกษาพบว่า
1. บทบาทในการจัดการความขัดแย้งของนายอำเภอของประชาชน ประกอบด้วย 3 ปัจจัย คือ ปัจจัยส่วนบุคคล คือ ตัวนายอำเภอของประชาชน ที่จะต้องทำงานด้วยความทุ่มเท เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนในพื้นที่ ประกอบด้วย พฤติกรรมการทำงานที่เหมาะสม ภาวะผู้นำและมีความสามารถในการบริหารงาน
และความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ ปัจจัยอำนาจตามโครงสร้างทางราชการ เป็นอำนาจหน้าที่ที่นายอำเภอมี โดยเป็นอำนาจตามกฎหมาย และอำนาจทางการบริหาร และปัจจัยสภาพแวดล้อม ได้แก่ ระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย และความจริงใจของผู้เกี่ยวข้องในการมีส่วนร่วมในการจัดการความขัดแย้ง
2. วิธีการจัดการความขัดแย้งโดยนายอำเภอของประชาชน มี 3 วิธีการ คือ วิธีการจัดการความขัดแย้งโดยปัจจัยส่วนบุคคล โดยการเกลี้ยกล่อม การประนีประนอม การเสริมสร้างความเข้าใจ การอดกลั้น การเชิญคู่กรณีมาพบโดยทันที และการเจรจาด้วยความยุติธรรม วิธีการจัดการความขัดแย้งโดยปัจจัยอำนาจตามโครงสร้างทางราชการโดยการเลือกใช้คนให้เหมาะกับงานและเวลา การให้ข้อมูลย้อนกลับที่สร้างสรรค์ การใช้อำนาจตามกฎหมาย การจัดการความขัดแย้งแบบวางแผนเป็นขั้นตอน การตั้งคณะกรรมการจัดการความขัดแย้ง และวิธีการจัดการความขัดแย้งโดยปัจจัยสภาพแวดล้อม โดยการขอความร่วมมือผู้มีบารมี และการเสริมสร้างความจริงใจในการมีส่วนร่วมในการจัดการความขัดแย้งของทุกภาคส่วน
3. ข้อเสนอแนวทางการปรับปรุงวิธีการจัดการ การพัฒนาทักษะ และการพัฒนานวัตกรรมที่เหมาะสมต่อการจัดการความขัดแย้งโดยนายอำเภอของประชาชน โดยอำเภอจะต้องมีกลไกยุติความขัดแย้งระดับชุมชน มีศูนย์บริหารงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ มีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย (นิติกร) ประจำอำเภอ มีหน่วยจัดการความขัดแย้งเคลื่อนที่เร็วและมีหลักสูตรเพื่อการถ่ายทอดความรู้วิธีการจัดการความขัดแย้ง
Article Details
References
กรมการปกครอง. (2551). หนังสือที่ระลึก โครงการนายอำเภอของประชาชนและโครงการนายอำเภอ ที่มีผลงานดีเด่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2551. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อาสารักษาดินแดน.
_____. (2552). เอกสารของกลุ่มวางแผนอัตรากำลังและพัฒนาระบบงาน. กรุงเทพฯ: กองการเจ้าหน้าที่ กรมการปกครอง.
จารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา. (2551). รายงานการศึกษาส่วนบุคคล เรื่อง การบริหารการปกครองอำเภอภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้ง. นักศึกษาหลักสูตรนักปกครองระดับสูง (นปส.) รุ่นที่ 52 กรุงเทพฯ: สถาบันดำรงราชานุภาพ
กระทรวงมหาดไทย.
ดรุณี จงประสิทธิ์กุล. (2544). ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ป่าไม้กับชุมชนในการจัดการทรัพยากรป่าไม้: กรณีศึกษาเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าดอยผาช้าง. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต. สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ประมวล รุจนเสรี. (2541). นายอำเภอในฝัน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.
ปรีชา พันธ์ุขะวงศ์. (2546). บทบาทนายอำเภอในการบริหารจัดการด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยระดับอำเภอ. วิทยานิพนธ์รัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต. สาขาวิชานโยบายสาธารณะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา.
ภพชนก ชลานุเคราะห์. (2548). เอกสารการศึกษาเชิงวิจัยส่วนบุคคล เรื่อง แนวทางการพัฒนาบทบาทของปลัดอำเภอในการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี ศึกษาเฉพาะกรณีอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม. นักศึกษา
หลักสูตรนายอำเภอ รุ่นที่ 59. กรุงเทพฯ: วิทยาลัยการปกครอง กรมการปกครอง.
มนตรี จันทวงศ์. (2548, พฤศจิกายน). ความขัดแย้งการจัดการน้ำภาคเหนือ: สู่สังคมสมานฉันท์. การสัมมนาวิชาการประจำปี 2548 เรื่อง สู่สังคมสมานฉันท์ โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI). โรงแรม
แอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน, ชลบุรี.
มูฮัมหมัดรอฟีอี มูซอ. (2549). กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์และการจัดการความขัดแย้งในชุมชนมุสลิม: ศึกษากรณีชุมชนบ้านอิสลาม จังหวัดปัตตานี. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เดือนตุลา.
สถาบันพระปกเกล้า. (2549). สันติวิธีกับความยั่งยืนของประชาธิปไตย (Culture of peace and sustainable democracy). เอกสารประกอบการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 6, ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ
(5-7 พฤศจิกายน 2547), กรุงเทพฯ.
สมชาย ชัยคณานุกูล. (2543). ความคิดเห็นของข้าราชการฝ่ายปกครองในจังหวัดชลบุรีต่อการชุมนุมเรียกร้องของประชาชน ระหว่างปี พ.ศ. 2536 ถึง 2540. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต. สาขารัฐศาสตร์ บัณฑิต
วิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
อุดม บัวศรี และชอบ ดีสวนโคก. (2546). เจ้าโคตร: การระงับความขัดแย้งในวัฒนธรรมอีสาน. นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า.
Glaser, B.G. and Strauss, A.L. (1999). The Discovery of Grounded Theory. Hawthorne, NY: Aldine, 1967.
reprinted 1999.