มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และการคุ้มครองการจดทะเบียนโดเมนเนม

ผู้แต่ง

  • สุกฤตา - พิทยชินโชติ คณะนิติศาสตร์
  • อภิญญา เลื่อนฉวี

คำสำคัญ:

โดเมนเนม เว็บไซต์

บทคัดย่อ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับโดเมนเนมในประเทศไทย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์และการคุ้มครองการจดทะเบียนโดเมนเนม เนื่องจากการที่ประเทศไทยไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนโดเมนเนมมาบังคับใช้โดยตรง การนำหลักกฎหมายมาปรับใช้กับโดเมนเนมในปัจจุบันจึงต้องอาศัยพระราชบัญญัติเครื่องหมายทางการค้า พ.ศ.2534 มาใช้ในลักษณะหลักการเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง แต่อย่างไรก็ตามโดเมนเนมไม่ใช่เครื่องหมายทางการค้าและในทางกลับกันเครื่องหมายทางการค้าก็มิใช่โดเมนเนม เนื่องจากโดเมนเนมมีลักษณะเฉพาะที่สามารถแสดงออกได้ทางตัวอักษร ตัวเลข การเรียบเรียงตัวอักษรตัวเลขเหล่านั้น เพื่อแสดงออกมาเป็นโดเมนเนม สำหรับเครื่องหมายทางการค้านอกจากการแสดงออกผ่านตัวอักษรแล้วยังสามารถแสดงออกได้ทาง ลักษณะ รูปร่าง ลายเส้นและรวมไปถึงสีสัน เป็นต้น จึงไม่เหมาะสมหากจะนำหลักเกณฑ์และมาตรการต่างๆของพระราชบัญญัติเครื่องหมายทางการค้า พ.ศ.2534 มาอนุโลมใช้กับโดเมนเนม

ปัจจุบันประเทศไทยมิได้ให้ความสำคัญกับปัญหาเรื่องโดเมนเนมเท่าที่ควร จึงไม่ปรากฏบทบัญญัติทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโดเมนเนมที่จะเข้ามาคุ้มครองและรับรองสถานะทางกฎหมายของโดเมนเนมโดยตรง อีกทั้งหลักเกณฑ์ในการจดทะเบียนโดเมนเนมเป็นหลักเกณฑ์ที่ออกโดยภาคเอกชน สามารถยกเลิก แก้ไข เปลี่ยนแปลงได้ง่าย นอกจากนี้การที่ไม่มีหน่วยงานของภาครัฐเข้ามาทำหน้าที่รับจดทะเบียนโดเมนเนม เพื่อเป็นสื่อกลางในการควบคุมรวมถึงกำหนดนโยบาย วางแบบแผนเกี่ยวกับโดเมนเนม ส่งผลให้เกิดปัญหาในหลายด้าน ทั้งในด้านการพิจารณาเจตนาของผู้จดทะเบียนโดเมนเนม หลักเกณฑ์ในการจดทะเบียนโดเมนเนมทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับช่วงระยะเวลาที่จะเริ่มต้นการคุ้มครองผู้ขอจดทะเบียนโดเมนเนม รวมถึงปัญหาเรื่องการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนโดเมนเนมที่มีผลกระทบต่อความเป็นเจ้าของชื่อโดเมนเนมเนื่องจากเอกชนที่รับจดทะเบียนโดเมนเนมได้อาศัยการเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนโดเมนเนมโดยอำเภอใจมาเป็นข้อต่อรองในการรับต่ออายุโดเมนเนมในครั้งต่อไป

จากการศึกษาพบว่าการที่ประเทศไทยไม่มีกฎหมายที่มาบังคับใช้กับโดเมนเนมได้โดยตรงและกฎหมายที่ยังบังคับใช้อยู่ยังมีความล้าหลัง อีกทั้งยังไม่สอดคล้องกับความมีลักษณะเฉพาะของโดเมนเนม ซึ่งเป็นการยากที่จะควบคุมการจดทะเบียนโดเมนเนมและคุ้มครองผู้เป็นเจ้าของชื่อโดเมนเนมโดยใช้กฎหมายฉบับอื่น ผู้วิจัยจึงเห็นควรจัดให้มีกฎหมายที่สามารถเข้ามากำกับดูแลเกี่ยวกับโดเมนเนมโดยตรง โดยการเสนอให้มีพระราชบัญญัติคุ้มครองโดเมนเนมให้ครอบคลุมถึงหลักเกณฑ์และการคุ้มครองการจดทะเบียนโดเมนเนม นอกจากนี้ควรจัดตั้งหน่วยงานของทางภาครัฐ เพื่อเข้ามาทำหน้าที่เปิดการประมูลเพื่อหาหน่วยงานภาคเอกชนเข้ามาทำหน้าที่รับจดทะเบียนโดเมนเนม และมีการวางนโยบายเพื่อให้ครอบคลุม ผู้ที่ได้จดทะเบียนโดเมนเนมไว้ก่อนที่จะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติโดเมนเนม โดยนำแนวคิดและหลักการของต่างประเทศรวมถึงการร่างกฎหมายของประเทศไทยมาเป็นแนวทางในการร่างพระราชคุ้มครองโดเมนเนม เพื่อแก้ไขปัญหาโดเมนเนมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้อย่างเหมาะสม

References

Amonpinyokeat, P. (2001). “Law Protect of Domain Names on Internet.” (Master’s thesis)Faculty of law, Thammasat University. (in Thai)

Limpattamapanee, C. (1997, April 30). “1 Decade of Thai Internet “Thainic”.” Thairath. (in Thai)

Ounnapiruk, S. (2001). “Knowledge about Domain Names.” Bangkok: Print Work Limited Partnership. (in Thai)

Thai Network Information Center Foundation (THNIC) Academic Seminar on Domain Names “.th to sustainable business opportunities.” 21 August 2018. (in Thai)

Thai Webmaster Association. “Website what is it?.” Retrieved October 19, 2018, from https://www.webmaster.or.th /website. (in Thai)

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-12-28