บทสังเคราะห์การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์
บทคัดย่อ
ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติราชการ อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีดิจิทัลสามารถช่วยแก้ปัญหาในการจัดเก็บเอกสารและเข้าถึงเอกสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นบุคลากรภาครัฐยังสามารถปฏิบัติงานได้ทุกที่ ทุกเวลา ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการจัดทำบริการสาธารณะ รัฐบาลจึงได้ตราพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายกลางในการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งเสริมให้การปฏิบัติราชการและการให้บริการของภาครัฐปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัลให้สอดคล้องกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีในปัจจุบันเป็นการอำนวยความสะดวกและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในการติดต่อราชการ การขออนุมัติ การอนุญาต ขึ้นทะเบียน จดทะเบียน การแจ้งเพื่อประกอบกิจการของประชาชน การรับเงินและการออกใบเสร็จรับเงินของหน่วยงาน รวมทั้งสามารถลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการของภาครัฐในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างคล่องตัว รวดเร็วและลดปัญหาการทุจริต ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้จึงมีความสำคัญที่จะส่งผลกการให้บริการภาครัฐก้าวไปสู่ยุครัฐบาลดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทการพัฒนาทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน
การปฏิบัติราชการตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 จะส่งผลดีต่อการปฏิบัติราชการในด้าน 1) การเพิ่มขีดความสามารถทางด้านดิจิทัลของประเทศโดยการนำเครื่องมือเทคโนโลยีในการสร้างสรรค์นวัตกรรมการผลิตและการให้บริการ เพื่อลดปัญหาด้านการจัดเก็บ การสูญหายของเอกสารและการสืบค้นข้อมูลเอกสาร 2) ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนสามารถติดต่อกับหน่วยงานของรัฐได้ง่าย สะดวก รวดเร็วและลดภาระในด้านต่าง ๆ ให้กับประชาชน รวมถึงสามารถยื่นเอกสารผ่านวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ได้ ช่วยให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายในการติดต่อกับหน่วยงานราชการมากยิ่งขึ้น 3) พัฒนาทักษะอาชีพด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของบุคลากรภาครัฐเพื่อให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ในด้านของการทำงานและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 4) สร้างความปลอดภัยให้กับข้อมูลเอกสารเนื่องจากเอกสารเป็นความสำคัญขององค์กร ระบบการจัดการกับเอกสารจึงมีรูปแบบการกำหนดสิทธิในการเข้าใช้ ควบคุมความปลอดภัย เพื่อป้องกันการใช้งานจากผู้ไม่ประสงค์ดีในการเข้าถึงระบบฐานข้อมูล และ 5) ลดปริมาณการใช้กระดาษและแฟ้มเอกสารโดยการเปลี่ยนจากห้องเก็บเอกสารแบบออฟไลน์ให้มาอยู่ในระบบออนไลน์ ซึ่งนำไปสู่กระบวนการการจัดเก็บเอกสารในรูปแบบของอิเล็กทรอนิกส์เพื่อช่วยลดปัญหาการสิ้นเปลืองของทรัพยากรได้ในอนาคต
References
จุฑาลักษณ์ จำปาทอง. (2566). บทวิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... สืบค้นเมื่อ 3 มิถุนายน 2566. จาก https://www.senate.go.th/document/ Ext26399/26399703_0004.PDF.
ผู้จัดการออนไลน์. (2566). ปัจจัยสู่ความสำเร็จของการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน. สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2566. จาก https://mgronline.com/politics/detail/9660000009181.
ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์. (2549). รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: รัตนไตร.
พระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563. (2563, เมษายน 19). ราชกิจจานุเบกษา, 137(30ก).
พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562. (2562, พฤษภาคม 22).ราชกิจจานุเบกษา, 136(67ก).
พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565. (2565, ตุลาคม 12). ราชกิจจานุเบกษา, 139(63ก).
พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544. (2544, ธันวาคม 4). ราชกิจจานุเบกษา, 118(112ก).
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560. (2560, เมษายน 6). ราชกิจจานุเบกษา, 134(40ก).
ศรีรัฐ โกวงศ์. (2551). รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government): บทสำรวจเบื้องต้น. วารสารรัฐประศาสนศาสตร์ 6(3) (มิถุนายน - ธันวาคม 2551).
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2566). รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายและสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. สืบค้นเมื่อ 6 มิถุนายน 2566. จาก https://www.krisdika.go.th/data/news/news14491.pdf.
สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. (2564). สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มีนาคม 2564. สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2566. จาก https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/40502.